วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ตอนที่ 2



โดย เอมอร คชเสนี
       ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ว่า สามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอะไรขึ้นได้บ้าง วันนี้จะกล่าวถึงอาการบาดเจ็บประเภทต่างๆ และวิธีการปฐมพยาบาลค่ะ
     
       - การเคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น
     
       นอกจากจะเกิดจากการเล่นกีฬาแล้ว ยังอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว หรือการยกของหนัก จะมีอาการปวด บวม และ เขียวช้ำ ให้ประคบเย็น แล้วใช้ยาสำหรับทาบรรเทาอาการฟกช้ำ หรือบรรเทาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรถูนวดแรงๆ ควรถอดเครื่องประดับ เช่น สร้อยข้อมือ กำไล แหวน เพราะบริเวณที่บาดเจ็บจะบวม การใส่เครื่องประดับอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
     
       - การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลัง
     
       บริเวณกล้ามเนื้อหลัง นอกจากกล้ามเนื้อแล้วยังมีเส้นประสาทอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง หากเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลัง อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทได้ การบาดเจ็บอาจเนื่องมาจากการเล่นกีฬาที่หนักเกินไป เช่น วิ่งเป็นเวลานาน หรือเล่นเทนนิส นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวที่ผิดจังหวะ เช่น การเอื้อม การหมุนตัว หรือ การก้ม หากมีอาการปวดหลังควรนอนพักให้มาก หยุดกิจกรรมที่ทำสักระยะ ไม่ควรก้มหรือบิดตัวในระยะนี้ อาจประคบร้อนหลังจากวันแรกที่เกิดการบาดเจ็บ เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้เริ่มออกกำลังกายเบาๆ เพราะการนอนพักต่อไปอาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอได้
     
       - เอ็นส้นเท้าอักเสบ
     
       เส้นเอ็นที่ส้นเท้าจะอยู่ใต้ฝ่าเท้า เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น เวลาเคลื่อนไหวจะเจ็บปวด หรือเกิดความรำคาญ หากยังฝืนใช้งานหนักต่อไป อาจทำให้เกิดการฉีกขาดได้ เมื่อมีอาการเจ็บปวด ให้งดเล่นกีฬาจนกว่าจะหายดี
     
       - เอ็นร้อยหวายขาด
     
       เอ็นร้อยหวายเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อน่องและหัวเข่า อาจเกิดการฉีกขาดเนื่องจากการวิ่ง หรือข้อเท้าแพลง ควรประคบเย็น รัดด้วยผ้ายืด ใส่เฝือก และไปพบแพทย์
     
       - กล้ามเนื้อบริเวณต้นขาหรือขาหนีบฉีกขาด
     
       ส่วนใหญ่มักเกิดกับนักกรีฑา เนื่องจากการเปลี่ยนทิศทางการวิ่งกะทันหัน การออกตัวอย่างรวดเร็ว หรือหยุดวิ่งแล้วกลับมาวิ่งอีกทันที จะมีอาการปวดบริเวณขาหนีบตรงง่ามขา ให้ประคบเย็นใน 24 ชั่วโมงแรก และควรหยุดเล่นกีฬาประมาณ 2 สัปดาห์ พักให้อาการหายดีก่อน แล้วใช้วิธียืดกล้ามเนื้อจะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
     
       - ผิวหนังบวมพอง
     
       เกิดจากการเสียดสี เช่น การจับไม้แบด แร็กเก็ตเทนนิส ไม้กอล์ฟ หรือใส่รองเท้าที่ไม่พอดี จะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสๆ ตรงบริเวณผิวหนังที่ถูกเสียดสี หากปล่อยทิ้งไว้ก็สามารถหายเองได้ ใช้เวลา 2-3 วันตุ่มน้ำจะแตกออก ร่างกายจะสร้างเซลล์ผิวหนังขึ้นมาใหม่ หากต้องการใช้เข็มเจาะเอาน้ำออก ควรใช้เข็มที่สะอาด และอย่าทำให้หนังที่หุ้มอยู่หลุดออก หลังจากนั้นผิวหนังใหม่จะถูกสร้างขึ้นมาแทนเช่นกัน
     
       - โดนกระแทกเบ้าตา
     
       ส่วนใหญ่เกิดจากกีฬาประเภทลูกบอลกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการช้ำใต้ตา เลือดออกในลูกตา ให้ล้างตา ปิดตาทั้งสองข้าง และไปพบแพทย์
     
       - กระดูกหัก
     
       หากเล่นกีฬาอย่างรุนแรงโดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้กระดูกหักได้ วิธีการปฐมพยาบาลได้กล่าวไว้อย่างละเอียดในตอนที่แล้ว
     
       - กระดูกเคลื่อนหรือหลุด
     
       การถูกกระแทก ดึง หรือหมุนแรงๆ อาจทำให้กระดูกเคลื่อนหลุดออกมาจากเบ้า ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และมีอาการเจ็บปวด พยายามให้ผู้บาดเจ็บเคลื่อนไหวน้อยที่สุด แล้วนำส่งแพทย์ ห้ามจับข้อกระดูกให้กลับเข้าที่ด้วยตัวเอง
     
       - ถุงน้ำในข้อเสื่อม
     
       ข้อต่างๆ ภายในร่างกายจะมีถุงน้ำรองรับการกระแทกและช่วยในการเคลื่อนไหว อาการถุงน้ำในข้อเสื่อมจะทำให้เกิดอาการปวดข้อเวลาที่เคลื่อนไหวมากๆ หรือทำซ้ำท่าเดิมบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์ และเลือกออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก
     
       - เป็นตะคริว
     
       กล้ามเนื้อเป็นตะคริวจะไม่มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ จะรู้สึกเจ็บปวดอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วหายไปในเวลาไม่กี่นาที แต่หากมีอาการมากก็อาจปวดอยู่นานเป็นชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อาการจะหายไปได้เองในที่สุด ตะคริวอาจเกิดจากร่างกายขาดแร่ธาตุ เช่น โปแตสเซียม ขาดน้ำ หายใจเร็วกว่าปกติ หรือเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่พอ การปฐมพยาบาลทำได้โดยค่อยๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว

“ปลาหมึก” กับผลต่อสุขภาพ

เอมอร คชเสนีฟังเสียงและภาพประกอบจาก Manager Multimedia
โดย เอมอร คชเสนี
       คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show
      
       ควันหลงจากฟุตบอลโลก 2010 ที่เพิ่งจะปิดฉากลง ข่าวดังที่ตีคู่มากับทีมฟุตบอลที่เข้ารอบและได้แชมป์ ก็คือ ข่าวของ “ปลาหมึกพอล” ที่จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นปลาหมึกพยากรณ์ที่แม่นแบบจับวาง หลายคนหันมากิน “ปลาหมึก” เป็นอาหารหลัก ด้วยความแค้นเจ้าหมึกพอลที่เสี่ยงทายให้ทีมในดวงใจต้องพ่ายแพ้ในศึกลูกหนังครั้งนี้ กินปลาหมึกแล้วก็แซวกันต่อว่า “ระวังคอเลสเตอรอลในเลือดจะพุ่งกระฉูดนะ” เท็จจริงเป็นอย่างไร ไปติดตามข้อมูลกันค่ะ
       

       คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองส่วนหนึ่ง และได้จากอาหารอีกส่วนหนึ่ง หากจะพูดถึงปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารทะเล อาจจะกล่าวได้ว่า ปลาหมึกจัดเป็นอาหารทะเลที่มีคอเลสเตอรอลสูงที่สุด
      
       อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลหลายชิ้น ที่ระบุตรงกันว่า เราอย่าได้กลัวคอเลสเตอรอลจากอาหารเกินไปนักเลย โดยเฉพาะอาหารทะเลซึ่งถือเป็นอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุสังกะสีและไอโอดีน แม้ว่าปลาหมึกจะมีคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็จัดเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ซึ่งมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของคนทั่วไปไม่มากนัก
      
       ส่วนอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด คืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ ไขมันนม เนย รวมถึงไขมันทรานส์ซึ่งพบมากในมาการีน เนยขาว ครีมเทียม และอาหารที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เช่น เค้ก คุกกี้ พาย ขนมอบต่างๆ
      
       ดังนั้น การควบคุมระดับคอเลสเตอรอล จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์สูง มากกว่าการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากวัตถุดิบที่ร่างกายใช้ผลิตคอเลสเตอรอลแหล่งใหญ่ๆ ไม่ใช่คอเลสเตอรอลจากอาหาร แต่เป็นไขมันอิ่มตัวจากอาหาร
       นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก ดร.สุพิศ ทองรอด นักวิชาการด้านอาหารของกรมประมง ที่ระบุว่า ถึงแม้ปลาหมึกจะมีคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็มีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลได้
      
       บางคนมีระดับคอเลสเตอรอลสูงจากกรรมพันธุ์และวัย แต่หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ไม่เครียดมาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป
      
       สิ่งที่ควรระมัดระวังจากปลาหมึก น่าจะเป็นโลหะหนักที่สะสมในสัตว์ทะเล เช่น แคดเมียม
       เคยมีการสุ่มตรวจปลาหมึก ทั้งที่มีขายทั่วไปในไทยและที่ส่งออก ผลปรากฏว่าพบปลาหมึกที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม มีทั้งที่ไม่เกินเกณฑ์และที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ปริมาณแคดเมียมในอาหารที่ยอมรับได้คือ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
      
       แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า กระดาษ หมึกพิมพ์ และสี เศษแคดเมียมจะสะสมในดินและดินตะกอนใต้น้ำ

      
       ปลาหมึกแต่ละชนิดจะมีปริมาณสารแคดเมียมไม่เท่ากัน โดยจะพบแคดเมียมในปลาหมึกสายและปลาหมึกกระดองมากกว่าปลาหมึกกล้วย เนื่องจากปลาหมึกกล้วยหากินกลางทะเล ส่วนปลาหมึกสายและปลาหมึกกระดองหากินตามผิวดินเขตน้ำตื้น ซึ่งตะกอนดินในเขตน้ำตื้นจะมีโลหะหนักสะสมอยู่มากกว่า ดังนั้น หากเลือกได้ กินปลาหมึกกล้วยจะปลอดภัยกว่าปลาหมึกสายหรือปลาหมึกกระดอง
       แคดเมียมจะสะสมอยู่มากในไส้มากกว่าส่วนเนื้อ โดยเฉพาะในมันและถุงทราย ดังนั้นการควักไส้ปลาหมึกออกทิ้ง แล้วล้างให้สะอาด จะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น
      
       หากร่างกายได้รับแคดเมียมในปริมาณต่ำๆ จะไปสะสมในไต เช่นเดียวกับโลหะหนักอีกหลายชนิด หากร่างกายสะสมแคดเมียมมากเกินไป ในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคกระดูกโปร่งบางหรือกระดูกพรุน โดยจะไปรบกวนการทำงานของวิตามินดี แคลเซียม และคอลลาเจน
      
       ส่วนพิษเฉียบพลันของแคดเมียม หากได้รับปริมาณมากๆ ในคราวเดียว อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นตะคริว หรือท้องเสียอย่างแรงได้ โลหะหนักหลายชนิดจะดูดซึมได้ดีในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ จึงควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินในเด็กให้ดี
      
       นอกจากโลหะหนักแล้ว สารเคมีอันตรายที่อาจพบได้ในปลาหมึกก็คือ ฟอร์มาลีน ซึ่งมีการนำมาใช้กับอาหารทะเลและผักสด เพื่อให้คงความสด ไม่เน่าเสียเร็ว ก่อนซื้อควรดมดู หากมีฟอร์มาลีนจะได้กลิ่นฉุนชัดเจน
      
       หากรับประทานอาหารที่มีสารฟอร์มาลินตกค้าง อาจทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากสัมผัสอยู่เป็นประจำจะเกิดการสะสม ทำให้ผิวหนังระคายเคือง และอักเสบ มีผลเสียต่อการทำงานของตับ ไต หัวใจ และสมอง
      
       ปลาหมึกก็เหมือนกับอาหารอีกหลายชนิดในปัจจุบันที่อาจต้องเสี่ยงกับสารอันตราย อย่างไรก็ตาม หากคนเราได้รับสารพิษหรือโลหะหนักคราวละน้อยๆ ร่างกายจะสามารถขับออกได้บางส่วน ดังนั้น หากเรากินอย่างพอดี ไม่มากเกินไป ไม่บ่อยเกินไป เราก็ยังเอร็ดอร่อยกับเมนูปลาหมึกได้โดยไม่ต้องคอยห่วงเรื่องสารพิษ รวมถึงคอเลสเตอรอลค่ะ
       

นอนแยกเตียง เพิ่มรักหวาน?


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ขอบคุณภาพจากเดลิเมล
       หากเอ่ยถึงการนอนแยกเตียงกันของคู่รักคู่แต่งงาน หลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่ก็อาจมองว่าชีวิตคู่ของเขาและเธออาจมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ แต่ในหลาย ๆ ครอบครัว การแยกเตียงนอน หรือแยกห้องกันนอน กลับช่วยเพิ่มความสุขในการครองคู่ได้มากกว่าเดิม 
      
       สาเหตุของความสุขในชีวิตคู่ที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถนอนหลับสนิทได้ยาวนานกว่าเดิม ไม่ต้องทนกับเสียงกรน การพลิกตัว หรือการลุกไปเข้าห้องน้ำของคนที่นอนข้าง ๆ ที่อาจทำให้ตนเองนอนไม่หลับไปอีกนาน
      
       ดร.เนล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้้านการนอนหลับคนหนึ่งของอังกฤษ และเป็นอีกคนหนึ่งที่นอนแยกเตียงกับภรรยามานานกว่า 9 ปี กล่าวให้ความเห็นว่า "หากคุณต้องนอนเตียงใหญ่ร่วมกับคู่รัก นั่นหมายถึงคุณจะมีพื้นที่ส่วนตัวน้อยลง และทำให้การนอนหลับไม่ใช่การพักผ่อนอย่างที่ร่างกายควรจะได้รับ"
      
       ไม่เพียงเท่านั้น เขายังระบุว่า คู่รักที่นอนหลับบนเตียงเดียวกันนั้นอาจมีพฤติกรรมระหว่างการนอนที่รบกวนการนอนของอีกฝ่ายได้ เช่น นอนกรน นอนกระสับกระส่าย หรือลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ 
      
       พร้อมกันนั้นเขายังได้ยกตัวอย่างถึงการนอนหลับในอดีตขึ้นมาประกอบด้วยว่า ในอดีตมีเพียงคนยากจนเท่านั้นที่ต้องนอนร่วมกัน เหตุเพราะคนจนไม่สามารถมีบ้านหลังใหญ่พอที่จะแยกห้องกันนอนได้
      
       ขณะที่ภาพการนอนหลับแสนโรแมนติกที่สื่อนำเสนอนั้นมักเป็นการนอนในอ้อมกอดของกันและกัน ดร.สแตนลีย์กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า "เรามักพบเห็นภาพจากหนังฮอลลีวูดถึงการนอนหลับของคู่รักที่แสนโรแมนติก เมื่อทั้งสองนอนหลับไปในอ้อมกอดของกันและกัน แต่ภาพเหล่านั้นอาจใช้ไม่ได้ในชีวิตจริงเสมอไป เพราะหากคุณลองได้นอนแล้ว มันอาจไม่รู้สึกสบายอย่างที่คิดก็เป็นได้"
      
       รายงานข่าวจากเดลิเมลยังได้ยกกรณีของไมค์และจีีน คอลลอม คู่แต่งงานชาวอังกฤษอีกรายหนึ่งที่นอนแยกเตียงติดต่อกันกว่า 8 ปีแล้ว ก่อนนอนพวกเขายังปฏิบัติกับคู่รักเหมือนเดิม คือกล่าวราตรีสวัสดิ์ และจูบลากัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนในห้องของตนเอง ซึ่งเธอยอมรับว่า การนอนแยกห้องกันนั้นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองยืนยาว
      
       ขณะที่ไมค์ผู้เป็นสามีกล่าวว่า "เพราะเราทั้งสองได้นอนหลับสนิทตลอดคืน เราจึงไม่ค่อยมีเรื่องขัดแย้งกันเหมือนคู่แต่งงานอื่น ๆ และทำให้การอยู่ร่วมกันในแต่ละวันเป็นไปด้วยดี"
      
       ส่วนเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศนั้น เขามองว่า การนอนแยกเตียงไม่ใช่ปัญหา เพราะหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความต้องการ ก็สามารถมีกิจกรรมทางเพศได้ ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนห้องใครห้องคนนั้นเหมือนเดิม
      
       ขณะที่อีกคู่หนึ่งคือ นาตาลี และแกเร็ธ สโนว์ ซึ่งแยกเตียงกันนอนเหตุเพราะฝ่ายหญิงไม่สามารถทนต่อเสียงกรนของฝ่ายชายได้ ยอมรับว่า เพื่อน ๆ ของเขาและเธอมองว่าการแยกเตียงกันนอนเป็นเรื่องประหลาด หลายคนคิดว่าเขาทั้งคู่มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์
      
       "จริง ๆ แล้ว มันกลับตรงกันข้าม เรานอนแยกห้องกันเพราะต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ชีวิตคู่มีปัญหาต่างหาก เพราะไม่เช่นนั้น ฉันต้องปลุกสามีขึ้นมาทุกทีที่ฉันเริ่มทนกับเสียงกรนของเขาไม่ไหว" นาตาลีกล่าว
      
       "ถ้าคุณทั้งคู่สามารถนอนหลับได้สนิทบนเตียงเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการนอน แต่ถ้าคุณพบว่า คุณต้องตื่นบ่อย ๆ กลางดึก เพราะคู่รักที่นอนร่วมเตียงเดียวกับคุณ นั่นก็อาจทำให้คุณต้องมีการคุยกันว่าควรจะเปลี่ยนรูปแบบการนอนเพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสได้พักผ่อนอย่างเต็มที่หรือไม่" ดร.สแตนลีย์กล่าว
      
       อย่างไรก็ดี ปัญหาอีกประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือความไม่เข้าใจกัน เมื่อคู่รักส่วนหนึ่งอาจเข้าใจว่า การนอนแยกเตียงนั้นอาจหมายถึงการที่อีกฝ่ายไม่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการพูดคุยทำความเข้าใจกัน โดยอาจจะชี้แจงว่า ต่างฝ่ายต่างยังรักกัน แต่ต้องแยกกันนอนเพื่อให้มีโอกาสในการพักผ่อนมากขึ้นนั่นเอง
      
       เรียบเรียงจากเดลิเมล

ทำไงดี! เมื่อลูกไปโรงเรียน

ทำไงดี! เมื่อลูกไปโรงเรียน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
       บทความโดย : อ.พญ.ศศิธร จันทรทิณ กุมารแพทย์ 
       
      
       คุณแม่หลายคนคงรู้สึกกังวลใจไม่น้อย กับลูกน้อยที่กำลังจะถึงวัยเข้าเรียนอีกไม่นาน เรามีวิธีรับมือค่ะ
      
       โดยปกติเด็กพร้อมที่จะจากบ้านไปเป็นตัวของตัวเองเมื่ออายุประมาณ 3-3 ขวบครึ่ง ซึ่งเด็กจะพูดรู้เรื่องช่วยตัวเองได้และอยู่ตามลำพังได้ โดยที่ไม่รู้สึกว่าพ่อแม่หายไปไหน เพราะเดี๋ยวก็ได้พบกัน ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน บางคนก็พร้อมจะไปโรงเรียนตั้งแต่ 2 ขวบ บางคน 3 ขวบครึ่งก็ยังงอแงอยู่ แต่โดยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 3-3 ขวบครึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เจ้าตัวเล็กจะไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นสถานที่แปลกใหม่ ได้พบผู้คนมากหน้าหลายตาโดยเฉพาะเด็กในวัยเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ
      
       แต่ก่อนที่เด็กจะไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมการแต่เนิ่นๆ ควรจะให้เด็กรู้หรือห่างเราบ้าง ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตนเองทีละน้อย เช่น หัดรับประทานข้าวเอง อาบน้ำเอง ทำความสะอาดตนเอง หรือเล่นอยู่ตามลำพัง ปล่อยให้เขามีเวลาอยู่ตามลำพัง และฝึกการนอนให้เป็นเวลา โดยเฉพาะที่โรงเรียนจะมีช่วงเวลาให้เด็กนอน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาระบบในโรงเรียนล่วงหน้า เพื่อมาจัดระบบที่บ้าน และให้เด็กฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง และถ้าจะให้เด็กไปโรงเรียน ควรให้เด็กไปรู้จักหรือคุ้นเคยสถานที่ที่จะไป ให้เด็กรู้จักคุณครู และให้เด็กรู้สึกเคยชิน ทำให้เด็กไม่รู้สึกแปลกกับสถานที่ และพูดถึงโรงเรียนในลักษณะที่ดีอยู่เสมอ
      
       แม้จะได้มีการเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่อย่าพึ่งนอนใจ ในวันแรกที่เด็กไปโรงเรียน หลายคนมักร้องไห้ ไม่อยากจากพ่อแม่ไปไหน บางคนอาจร้องเป็นอาทิตย์ หรือร้องเอาวันที่ 2 บางคนเกิดความกระตือรือร้นในตอนแรก ไม่กี่วันก็ไม่อยากไปเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับตัวตามวัย และตามพัฒนาการของเด็กค่ะ ไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด คิดดูว่าตั้งแต่เขาเกิดมาก็อยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งต้องไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ จะรักเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ เข้าทำนองว่ากลัวไว้ก่อน แต่อีกใจก็อยากมีเพื่อน ซึ่งทั้ง 2 อารมณ์จะต่อสู้กันอยู่ในใจประมาณ 2-3 อาทิตย์ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมพร้อมที่จะรับมือต่อสถานการณ์เหล่านี้ในวันแรกๆ ที่ลูกไปโรงเรียน
      
       1. ลูกร้องไห้ ขอให้คุณแม่ทำตัวปกติ ตั้งสติให้ดี เข้าใจและยอมรับการร้องให้ว่าเกิดขึ้นได้ อาจบอกลูกอย่างมั่นคงว่า หนูมาโรงเรียน แม่ไปทำงาน เสร็จงานแล้วจะมารับแน่นอน” ก่อนที่จะมอบให้คุณครูพาเข้าห้องเรียน ที่สำคัญ อย่าร้องไห้ตาม หรือขู่ลูกหากลูกยังร้องไห้โยเย เช่น “ถ้าไม่หยุดร้อง จะทิ้งไว้ที่โรงเรียนเลย” เพราะนอกจากลูกจะไม่หยุดร้องแล้ว จะยิ่งตกใจและเกลียดกลัวโรงเรียนไปกันใหญ่
      
       2. ของติดตัว เด็กวัยนี้อาจมีของที่เขาติด เช่น ผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา เอาไว้กอดเวลานอน หรือเมื่อไม่สบายใจ ดังนั้นจึงมีเด็กหลายคนยืนยันที่จะเอาไปโรงเรียนเพื่อความอบอุ่นใจ คุณแม่จึงควรอนุโลมให้ลูกเอาติดไป ซึ่งคุณครูก็เข้าใจ และเมื่อลูกปรับตัวได้แล้ว จึงค่อยคุยให้เข้าใจจนไม่ต้องนำติดไปโรงเรียนอีก
      
       3. ทิ้งลูก อยู่กับลูกตามกติกาของโรงเรียนที่อนุญาตให้คุณแม่อยู่กับลูกได้ อย่าทิ้งลูกหรือหนีไปโดยไม่บอกกล่าวร่ำลา โรงเรียนส่วนใหญ่จะขอให้แค่ส่งตอนเช้าก็พอ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการได้สะดวก
      
       4. รับช้า อย่าเด็ดขาด เพราะวันแรกที่ไปโรงเรียน เป็นวันสำคัญและมีความหมายต่อเด็กมาก หากพ่อแม่ให้สัญญาว่าจะมารับเวลาใด ก็ขอให้มาตรงเวลา เพราะเด็กจะเกิดความเชื่อถือ เกิดความมั่นใจ การที่คุณแม่มาสาย จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า เขาถูกทอดทิ้ง และจะมีผลให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนอีก
      
       5. ใจอ่อน เด็กบางคนจะมีลูกเล่น ออดอ้อนพ่อแม่ให้ดูว่าตนน่าสงสาร ร้องไห้บ้าง ไม่สบายบ้าง เพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน ซึ่งเป็นผลเสียกับเด็กหากพ่อแม่ใจอ่อนให้หยุดบ้าง เรียนบ้าง เพราะจะทำให้ระยะการปรับตัวของเด็กมากขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่นึกเสียว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องดี ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมาจากครอบครัวที่มีคนเอาใจล้อมหน้าล้อมหลัง พอมาที่โรงเรียนไม่เหมือนอยู่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวเป็นระเบียบ ต้องรู้จักแบ่งปันกับเพื่อนๆ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์อ่อนไหว กลัว ไม่อยากกลับไปโรงเรียนอีก
      
       6. เกรี้ยวกราด ลงโทษ สำหรับเด็กบางรายอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ไปโรงเรียนอีกเลย พ่อแม่ควรอดทน ใจเย็น ไม่เกรี้ยวกราดหรือลงโทษ แม้ลูกจะก้าวร้าว อาละวาดบ้าง แต่ขอให้เข้าใจว่า เด็กต้องไปเผชิญกับสิ่งแปลกไม่คุ้นเคย ไม่ว่าสถานที่ เพื่อน คุณครู ควรให้เวลาในการปรับตัวแก่เขาประมาณ 2-3 อาทิตย์
      
       ทั้งหมดนี้ หลังจากไปโรงเรียนแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตพฤติกรรมลูกต่อ ถ้าเห็นว่าผิดปกติ มีนอนละเมอ ฝันร้าย ฉี่รดที่นอนล่ะก็ ให้รีบหาสาเหตุ ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ การพบกับกุมารแพทย์ หรือกุมารแพทย์พัฒนาการ หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อาจช่วยคลายปมในใจของลูกและช่วยให้คุณดูแลลูกได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น 
      
       

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"ผมจะหัวเราะเมื่อเพื่อนหัวเราะ" ความในใจของลูกที่เสียประสาทการได้ยิน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
       หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดหยิบยื่นเครื่องเล่นเอ็มพีสามยี่ห้อทันสมัยโดนใจวัยจ๊าบให้กับลูกแล้ว ก็ไม่ควรเพิกเฉย ต้องสอดส่องดูแลถึงพฤติกรรมการใช้งานเจ้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนั้นของลูก ๆ ด้วย ก่อนที่จะเป็นเช่นเด็กวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการทำวิจัยพบว่า เด็กวัยรุ่นของประเทศกำลังสูญเสียการได้ยินไปทีละน้อย ๆ 
      
       เด็กเหล่านี้ประสบปัญหาทางการได้ยินเหตุเพราะเปิดวอลุ่มเสียงจากเครื่องเล่นเอ็มพีสามดังเกินไป การสูญเสียประสาทการได้ยินส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนในโรงเรียน และอาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังในอนาคต
      
       งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ในเด็กอายุ 12 - 19 ปีมีเด็กที่สูญเสียการได้ยินเพิ่มจาก 15 เปอร์เซ็นต์เป็น 19.5 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้ยินเสียงในระดับ 16 -24 เดซิเบล เช่น เสียงที่ผู้เป็นแม่บอกราตรีสวัสดิ์กับลูกก่อนนอน เป็นต้น หรือหากเขาได้ยินเสียงเหล่านั้นครบทั้งประโยค แต่ก็อาจจับใจความไม่ได้ครบถ้วน
      
       แม้ว่าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ค่ายที่กำลังโกยรายได้เข้ากระเป๋าเป็นว่าเล่นจากการจำหน่ายเครื่องเล่นเพลงเอ็มพีสาม แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ค่ายใดค่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
      
       Brian Fligor ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลเด็กของบอสตันกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "การฟังเพลงดัง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเด็กวัยรุ่น และเด็กในแต่ละเจเนอเรชั่นก็มักจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้พวกเขาได้ฟังเพลงในลักษณะนั้นได้ ตั้งแต่การผลิตเครื่องเล่นเพลงตัวใหญ่ ๆ มาจนถึงวิทยุตัวบางเฉียบทันสมัยสุด ๆ จากค่ายโซนี่เมื่อประมาณ 15 -20 ปีที่ผ่านมา แต่ยิ่งนานวัน เครื่องเล่นเพลงรุ่นใหม่ ๆ ก็มักสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง แถมมีหน่วยความจำให้เด็กบรรจุเพลงได้มากขึ้น ต่างจากเครื่องเล่นเพลงยุคเก่าที่มีข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่และดิสก์ที่บรรจุจำนวนเพลง"
      
       แมธธิว แบรดดี้ วัย 17 ปี ผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยิน คนไข้อีกคนหนึ่งของ Fligor บอกเล่าประสบการณ์ของเขาว่า เขามีปัญหาเวลาสนทนากับเพื่อน ๆ เป็นอย่างมาก และทำให้เขาต้องเริ่มทำตามคนอื่น ๆ เสมือนหนึ่งเขาเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
      
       "ผมจะหัวเราะก็ต่อเมื่อพวกเพื่อน ๆ หัวเราะกัน"
      
       Fligor บอกว่า การสูญเสียการได้ยินของแมธธิวเกิดจากการที่เด็กหนุ่มฟังไอพ็อดดังเกินไปและนานเกินไป โดยมารดาของเด็กชายเป็นโรคหัวใจ ทำให้แพทย์แนะนำกับเขาว่า เขาควรจะออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แมธธิวจึงเลือกออกกำลังกายโดยการเดินบนลู่วิ่ง พร้อม ๆ กับเปิดเพลงจากไอพ็อดฟังเป็นเวลา 30 นาทีต่อครั้ง และเขาทำกิจกรรมเช่นนี้มากถึงสัปดาห์ละ 4 ครั้ง
      
       หลังจากเข้ารับการรักษา ทุกวันนี้ แมธธิวก็ยังฟังเพลงจากไอพ็อดอยู่ แต่เปิดไม่ดังเหมือนในอดีตอีกแล้ว

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จัดการอย่างไร เมื่อครอบครัวพบปัญหา "สื่อสารบกพร่อง"


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
       การสื่อสารที่ดีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตคู่ของคุณอย่างยิ่ง เพราะหากคุณมีการสื่อสารที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาจากการสื่อสารไม่ตรงกัน หรือการเข้าใจผิด คุณควรใช้การสื่อสารบอกความรักความห่วงใยที่คุณมีต่อคนรัก รวมทั้งการใช้การสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีด้วย
      
       อย่างไรก็ดี มีครอบครัวอีกจำนวนมากที่ไม่มีความสุขเหตุเพราะการสื่อสารบกพร่อง ซึ่งสาเหตุของการสื่อสารทางลบที่ไม่สร้างสรรค์ในครอบครัว อาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
      
       - ความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการสื่อสารบกพร่อง
       - ความแตกต่างระหว่างเพศ
       - มุมมองและความต้องการแตกต่างกัน
       - สไตล์การสื่อสารแตกต่างกัน
       - การแปลความหมายผิด
       - การปกป้องตนเอง กลัวการไม่ยอมรับ

      
       ทำความเข้าใจกับ"การสื่อสารทางลบ"
      
       การสื่อสารทางลบจะแสดงออกทั้งภาษาท่าทาง และทางคำพูด
        ในทางด้านท่าทาง เช่น การจ้องมองอย่างไม่เหมาะสม, สีหน้าบึ้งตึง, เฉยเมย, ใช้ท่าทีเย็นชา, ขาดความใกล้ชิด, ไม่มีการปฏิสัมพันธ์โดยการสัมผัส
        ในทางคำพูด อาจแสดงออกโดยมีลักษณะดังนี้
        - พูดไม่ชัดเจน กำกวม ไม่รู้เรื่อง
        - เจ้ากี้เจ้าการ กำหนดกฎเกณฑ์ให้คนอื่นทำ เช่น ทำไมคุณไม่ไปจ่ายค่าน้ำตอนนี้เลยล่ะ
        - สั่ง เป็นการกำหนดให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น กลับบ้านเร็วหน่อยนะวันนี้
        - สอน เช่น คุณเป็นพ่อคนแล้ว น่าจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้
        - ประชด เช่น ตะวันยังไม่ตกดินเลย ทำไมกลับมาแต่วันเชียว
        - กล่าวหา เช่น คุณไม่เคยช่วยฉันเลี้ยงลูกเลย
        - เปรียบเทียบ เช่น สามีของคุณเอ ไม่เห็นเขาเป็นเหมือนคุณเลย
        - ติ เช่น ทำอะไรไม่เคยเรียบร้อยเลย
        - บ่น เช่น พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ยืดยาวในเรื่อง ๆ หนึ่ง
        - ด่าว่า เช่น การใช้คำหยาบคาย ไม่สุภาพ
        - ลักษณะอื่น ๆ เช่น ไม่พูดเพราะคิดว่าอีกฝ่ายรู้แล้ว, พูดผ่านคนอื่น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด, ด่วนสรุปทั้งที่ยังฟังความไม่ครบถ้วน, แปลความหมายในเชิงลบ, ชอบพูดถึงความผิดพลาดในอดีตของอีกฝ่าย, ไม่ใส่ใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด, ไม่ยอมพูดคุยกัน เพราะคิดว่าพูดทีไรก็ทะเลาะกันทุกที แต่ภายในใจอาจเต็มไปด้วยความโกรธ น้อยใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น
      
       การเริ่มต้นชีวิตคู่เป็นช่วงที่สำคัญมาก หากคุณเริ่มต้นด้วยการสื่อสารที่ดีมาตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลให้คุณมีการสื่อสารที่ดีต่อไปด้วย แต่หากการสื่อสารในช่วงต้นไม่ดี ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารให้ดีในภายหลัง
       เปลี่ยนใจคู่สมรสด้วย"การสื่อสารทางบวก"
      
       การสื่อสารทางบวกมีองค์ประกอบที่ควรแสดงออกดังนี้
      
        - สีหน้า ยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงออกถึงการใส่ใจรับฟัง
        - การสบตา จะทำให้การพูดจาง่ายขึ้น และอาจช่วยระงับอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยกันได้
        - ท่าทาง แสดงออกว่าสนใจฟังในสิ่งที่เขาหรือเธอพูด เช่น การผงกศีรษะรับ การโน้มตัวเข้าหา
        - การสัมผัส จะช่วยให้เกิดความรู้สึกทางใจ ถึงความรักใคร่ อบอุ่น และสนิทสนม เช่น การจับมือ การโอบกอด
        - ระยะห่าง ควรมีการพูดคุยกันในระยะใกล้ เพื่อที่จะไม่คลาดเคลื่อนในการรับฟัง และจะได้ไม่ต้องตะโกนใส่กัน
      
       การสื่อสารทางบวกอาจทำได้โดย 
      
        - พูดอย่างชัดเจนและตรงประเด็น
        - เปิดเผยความคิดเห็นและความรู้สึกของคุณอย่างตรงไปตรงมา
        - อย่าเดาใจกันเพราะอาจเกิดการเข้าใจผิด
        - เรียนรู้ศิลปะในการพูดว่าสิ่งไหนควรพูด และควรพูดเมื่อไร
        - เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดด้วย ไม่ใช่พูดอยู่ฝ่ายเดียว
        - หากจะพูดคุยเรื่องที่ขัดแย้งกัน ก็ควรเริ่มต้นการสนทนาเชิงบวกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี
        - พยายามอย่ารื้อฟื้นเรื่องอดีต
        - พยายามใช้คำพูดถึงตนเองแทนที่จะพูดถึงคนอื่น พูดว่าคุณต้องการอะไร ไม่ใช่พูดว่า เขาไม่ได้ทำอะไรให้ เช่น แทนที่จะพูดว่า รีบ ๆ หน่อยได้ไหม สายมากแล้วนะ ก็ควรพูดใหม่ว่า "ฉันกลัวว่าจะไปทำงานไม่ทัน เราอาจต้องรีบกันหน่อย"
        - อย่าเงียบเมื่ออีกฝ่ายพยายามสื่อสารด้วย
        - ตั้งใจฟังอย่างตั้งใจ และตั้งคำถามอย่างเหมาะสม
        - ควบคุมอารมณ์ ก่อนที่จะแสดงท่าทีอะไรออกมา
        - อย่าพูดแทรก ขัดคอ หรือโต้ตอบโดยที่ยังฟังไม่จบ
        - พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนรัก
        - เมื่ออีกฝ่ายพูดไม่เข้าหู อย่าตีความในเชิงลบโดยทันที
        - รับฟังความคิดเห็น ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

      
       ในเมื่อคนรักของคุณคือคนสำคัญของคุณ คุณจึงควรปฏิบัติต่อคนรักของคุณให้ถูกต้อง เริ่มต้นที่การพูดจาดีต่อกัน ให้เกียรติกัน พูดคำสุภาพต่อกัน เหล่านี้เป็นแรงเสริมที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมดีขึ้น การพูดอย่างมีศิลปะในสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยทำให้คุณทั้งสองทำสิ่งที่ถูกใจกันและกันมากขึ้น และการให้กำลังใจจะช่วยประคับประคองชีวิตคู่ของคุณให้มีความรักใคร่ผูกพันเพิ่มมากขึ้น
      
       คุณอยากให้คนรักของคุณปฏิบัติกับคุณเช่นไร ก็จงปฏิบัติเช่นนั้นกับเขาหรือเธอ การปฏิบัติที่ดีก่อน ไม่ได้ทำให้คุณเสียศักดิ์ศรีอะไรมากมายไม่ใช่หรือ เพราะการยอม (แพ้) คนรักของคุณ ท้ายที่สุดคุณจะชนะ (ใจ) เขาหรือเธออย่างแท้จริงนั่นเอง
      
       ขอบคุณข้อมูลจากคู่มือการเสริมสร้างชีวิตคู่ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วิธีตรวจเช็ก "โรคกระดูกพรุน" ก่อนเข้าสู่วัยชรา

  
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       "โรคกระดูกพรุน" (Osteoporosis) เป็นโรคที่ยากจะปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นภาวะที่มีความหนาแน่ของกระดูกต่ำ เพราะมีการสูญเสียโครงสร้างของกระดูก ทำให้กระดูกเปาะและมีโอกาสที่กระดูกจะแตกหักได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง และข้อมือ ส่วนใหญ่จะสูญเสียความหนักแน่นของกระดูกเมื่ออายุมากขึ้น หรือมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น เพราะโรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่หากไม่มีการดูสุขภาพกระดูกให้ดีก้สามารภบั่นทอนสุขภาพร่างกายให้เสื่อมโทรมลงได้
      
       ข้อมูลจาก "กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลกลาง" บอกว่า ผู้ที่มีความหนาแน่นของกระดูกปกติจะมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดกระดูกแตกหักเอง แต่ถ้าได้รับอุบัติเหตุที่มีการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง กระดูกก็สามารถแตกหักได้ทุกคน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะมีกระดูกที่เปราะบางและเสี่ยงต่อกระดูกแตกหักเพียงแค่การเคลื่อนไหวปกติ เช่น การวิ่งลงบันได ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพียงการจามก็อาจทำให้กระดูกหักได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนมีดังต่อไปนี้
      
       - ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่พบในเพศหญิง
      
       - วัยสูงอายุ
      
       - ประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
      
       - รูปร่างเล็กและผอม
      
       - เคยกระดูกหักมาก่อน
      
       - ระดับฮอร์โมนเพศต่ำ ผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ รวมถึงผู้หญิงในวัยที่หมดประจำเดือน รวมไปถึงผู้หญิงที่ประเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือที่เรียกว่า การขาดประจำเดือน (Amenortea)
      
       - การได้รับอาหารประเภทที่ให้แคลเซียมน้อยเกินไป ได้รับวิตามินน้อยและรับประทานโปรตีน โซเดียม แะกาเฟอีนมากเกินไป
      
       - เคลื่อนไหวช้าไม่สะดวก ไม่กระฉับกระเฉง
      
       - สูบบุหรี่
      
       - ดื่มสุราและเครื่องที่มีแอลกอฮอร์
      
       - รับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาแก้อาการชักบางชนิด เป็นต้น
      
       - มีโรคประจำตัวหรือภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะผิดปกติด้านการรับประทานอาหาร (Anorexia nervosa) หอบหืด เป็นต้น
      
       - ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคของต่อมไทรอยด์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       อย่างไรก็ดี โรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาได้ โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูกที่มีความสำคัญในการประเมินความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน และยังช่วยในการตัดสินใจด้านการป้องกันรักษา และติดตามการรักษาโรค ส่วนการตรวจเช็คและวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน เป็นการตรวจแบบพิเศษที่เรียกว่าBone mineral density (BMD) Measurement ใช้วัดความหนาแน่นของกระดูกในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยจะช่วยบอกว่า ผู้ป่วยมีความหนาแน่นของกระดูกต่ำหรือไม่ ความหนาแน่นกระดูกของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อเทียบกลับการตรวจครั้งที่ผ่านๆ มา มีการพยากรณ์โอกาสความเสี่ยงของผู้ป่วยจะกระดูกหักในอนาคต และช่วยให้การตัดสินใจรักษาง่ายขึ้น
      
       สำหรับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกก็มีข้อจำกัด ในผู้ป่วยที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ไม่ควรตรวจ เพราะการฉายรังสีอาจมีผลกระทบต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์ และผู้ที่รับประทานสารทึบรังสีมาก่อน (Recent oral contrast medid) ซึ่งจะทำให้การตรวจวัดผลไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถตรวจความหนาแน่นของกระดูกได้อย่างชัดเจน รวมถึงผู้ที่ได้รับการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มาก่อน (Recent medicine study) 
      
       ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ควรป้องกันไว้ก่อนสายเกินแก้ ด้วยการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยแคลเซียมและวิตามินให้เพียงพอในแต่ละวัน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกการสูบบุหรี่และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์มากเกินไป รวมถึงควรมีการตรวจสุขภาพและความหนาแน่นของกระดูกทุกๆ ปี และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดโรคกระดูกพรุน

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลำดับการเกิดมีผล ส่ง "พี่คนโต" ฉลาดกว่าน้อง


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       ลำดับการเกิดของพี่น้องในแต่ละครอบครัว ไม่เพียงสร้างให้เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยแตกต่างกัน หากยังทำให้เกิดการขัดแย้ง ไม่เข้าใจกันระหว่างพี่น้องได้อีกด้วย เช่น พี่คนโตอาจมีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการ และลงมาบงการความเป็นไปของน้อง ๆ ด้านน้องเองก็อยากเลือกทางเดินต่างจากพี่ ไม่ยอมรับเส้นทางที่พี่ขีดให้เดิน กลายเป็นปัญหาป่วนของครอบครัวได้ง่าย ๆ 
      
       อย่างไรก็ดี ลำดับการเกิดยังมีความหมายมากไปกว่านั้น เมื่อล่าสุด นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกายังได้ค้นพบว่า ลำดับการเกิดนั้น อาจส่งผลต่อ "อัจฉริยภาพและบุคลิกภาพ" ของเด็กได้ด้วย โดยงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า พี่คนโตนั้นมักจะ "ฉลาดกว่า" ในขณะที่ผู้เป็นน้องก็มักจะ "เข้าสังคมได้เก่งกว่า"นั่นเอง
      
       ทิฟฟานี่ แอล. แฟรงก์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Adelphi นิวยอร์ก ผู้ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวเปิดเผยว่า โดยมากแล้ว งานวิจัยในอดีตมักวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่ - ลูก หรือพ่อ - ลูก ขณะที่เรื่องของพี่-น้องมักไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจเท่าใด
      
       ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจเกี่ยวกับพี่น้องนั้นมีมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการแข่งขันกันระหว่างพี่น้องในด้านต่าง ๆ ซึ่งแม้จะมีคำถามว่า หรือจะเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่แตกต่างจึงส่งผลให้พี่น้องมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน แต่นักวิจัยของโครงการนี้เผยว่า ในความเป็นจริงแล้ว ลำดับการเกิดนั้นมีผลอย่างแน่นอน ไม่ว่าพ่อแม่ของพวกเขาจะเลี้ยงดูลูกอย่างไร
      
       "แม้จะเป็นความพยายามที่ดี แต่เป็นไปไม่ได้ที่พ่อแม่บอกว่าพวกเขาเลี้ยงดูลูก ๆ ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน" แฟรงก์กล่าว
      
       เมื่อจับพี่น้องมาเปรียบเทียบ
      
       งานวิจัยในอดีต มักเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลของเด็ก ๆ ที่มาจากคนละครอบครัว เช่น นักบินอวกาศของนาซา 21 คนจาก 23 คนเป็นลูกคนแรกของครอบครัว แต่ในงานวิจัยชิ้นนี้ แฟรงก์และทีมงานได้สำรวจความเห็นของคู่พี่น้อง 90 คู่ที่เรียนในระดับไฮสคูลโดยตรง โดยเด็กจะต้องแจ้งผลการเรียน และจัดอันดับตัวเองเปรียบเทียบกับพี่หรือน้องของตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านจริยธรรมในการทำงาน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ฯลฯ
      
       จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า เด็กที่เป็นพี่คนโตมักมีผลคะแนนสูง หรืออยู่ในเกณฑ์ดีในวิชาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และทักษะการพูด-ใช้ภาษา ขณะที่น้องคนรองสามารถทำคะแนนได้ดีแม้ไม่เท่าพี่ แต่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยในวิชาเช่น ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์
      
       ไม่เพียงแต่ด้านวิชาการ นักวิจัยยังได้เปรียบเทียบความแตกต่างในด้านบุคลิกลักษณะของคู่พี่น้อง 76 คู่ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นไฮสคูล โดยพบว่า น้องคนรองมักเป็นคนที่เข้าสังคมได้ดีกว่า เปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าพี่คนโต ในขณะที่พี่คนโตนั้นมักมีลักษณะของความเป็นนักสมบูรณ์แบบที่โดดเด่นกว่า
      
       นักวิจัยอธิบายสาเหตุของพฤติกรรมที่แตกต่างเหล่านี้เอาไว้ว่า เหตุที่พี่คนโตมักทำคะแนนได้สูงกว่าน้อง ๆ เพราะในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเป็นพี่คนโตนั้น เขาคือลูกคนเดียวที่ได้รับความสนใจ เอาใจใส่อย่างเต็มที่จากผู้เป็นพ่อแม่ ขณะที่น้องคนรอง ผู้ซึ่งสามารถทำคะแนนได้ดี แม้จะไม่ดีที่สุด แต่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยก็เพราะเขาได้เห็นถึงการจัดการกับปัญหาที่พี่คนโตแสดงออกมาก่อนแล้ว
      
       ซึ่งหากนำพี่คนโตกับน้อง ๆ มาแข่งขันกัน น้อง ๆ มักจะรู้สึกกดดันที่จะต้องแข่งขันกับพี่ และมักจะลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ที่พี่ของเขาไม่ได้ทำ เพื่อหวังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากผู้เป็นบิดามารดา นอกจากนั้น การได้เห็นอุปสรรคต่าง ๆ ที่พี่ของตนต้องเผชิญยังทำให้ลูกคนรองเป็นคนที่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่าด้วย
      
       เรียบเรียงจาก LiveScience.com

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก / เอมอร คชเสนีฟังเสียงและภาพประกอบจาก Manager Multimedia
โดย เอมอร คชเสนี
       คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show
     
       กระดูกของคนเราอาจแตกหักได้หากถูกกระแทกอย่างรุนแรง รับน้ำหนักมากเกินไป หรือในกรณีที่บางคนกระดูกเปราะอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกก็จะยิ่งแตกหักง่ายมากยิ่งขึ้น วันนี้มาเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักกันค่ะ

     
       การแตกหักของกระดูกแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
     
       1.กระดูกหักทิ่มออกมานอกเนื้อ
     
       กรณีนี้กระดูกที่แตกหักจะทิ่มออกมานอกผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นฉีกขาด ส่วนหนึ่งของกระดูกโผล่ออกมานอกเนื้อ หรือกระดูกที่แตกอาจจะไม่ทิ่มแทงออกมา แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นเป็นโพรงลึกลงไปจนถึงกระดูกบริเวณที่แตกออกจากกัน ทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระดูกส่วนที่หักและเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย กรณีแบบนี้ควรนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง
     
       2.กระดูกหักในเนื้อ
       กระดูกแตกหรือหัก แต่ไม่ทิ่มออกมานอกผิวหนัง จะมีอาการเจ็บปวด บริเวณที่มีกระดูกแตกหักจะบวม มีรอยเขียวช้ำ กระดูกจะผิดรูปร่าง บริเวณที่หักจะอ่อนปวกเปียกหรือเคลื่อนไหวได้แต่จะเจ็บปวดมาก และเวลาเคลื่อนไหวจะรู้สึกว่ามีการเสียดสีกับกระดูกส่วนอื่น
     
       กระดูกหักลักษณะนี้อาจจะมีอันตรายร้ายแรงได้ หากเส้นเลือดใหญ่บริเวณใกล้เคียงฉีกขาดไปด้วย จะมีเลือดคั่งซึ่งอาจทำให้ช็อคได้ หรือหากเป็นกระดูกซี่โครงอาจจะหักไปทิ่มปอด การเอ็กซเรย์จะทำให้ทราบแน่นอนว่ามีการแตกหักเกิดขึ้นบริเวณใดของกระดูก โดยเฉพาะการแตกหักที่อยู่ภายใน
     
       3.กระดูกหักแต่ไม่แยกออกจากกัน
     
       กรณีนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่กระดูกยังอ่อนอยู่ กระดูกจะเป็นรอยหักแต่ไม่แยกออกจากกัน เห็นเป็นรอยงอของกระดูก เนื่องจากกระดูกมีความยืดหยุ่นสูง
     
       กระดูกเคลื่อน
     
       คือการที่ข้อต่อของกระดูกหลุด ทำให้กระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิม กระดูกที่หลุดมักจะเป็นส่วนที่มีข้อต่อ เช่น แขน ข้อศอก หัวไหล่ นิ้วมือ หากกระดูกเคลื่อน จะมีอาการบวม มีรอยช้ำ รูปร่างกระดูกจะผิดปกติ และมีอาการปวด
     
       ข้อต่อที่หลุดไม่สามารถกลับคืนที่ได้อย่างเดิมหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรพยายามจัดข้อต่อที่หลุดให้กลับเข้าตำแหน่งเดิมด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้เจ็บปวดมากขึ้นแล้ว กระดูกอาจจะเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิมได้ ควรให้แพทย์เป็นผู้รักษา
     
       การปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกหักหรือเคลื่อน
     
       หากกระดูกหักเนื่องจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น รถชน รถคว่ำ ควรเรียกรถพยาบาล เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่ถูกวิธีอาจเกิดอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้ทำตามขั้นตอนดังที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ และหากมีเลือดออกจากบาดแผล ควรห้ามเลือดก่อน ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วเช่นกัน
     
       หากกระดูกแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง ไม่ควรพยายามจัดกระดูกกลับเข้าที่เดิม เพราะจะเพิ่มความเจ็บปวด และทำให้แผลติดเชื้อได้ง่าย
     
       สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กระดูกหักหรือกระดูกเคลื่อน คือป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหว โดยการใส่เฝือกหรือใช้ของที่มีความแข็งแทนก็ได้ เช่น ไม้ นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ที่นำมาม้วน หากพื้นผิวของวัสดุไม่เรียบ ให้ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มรองไว้ชั้นในก่อน
     
       เฝือกควรมีความยาวมากกว่าอวัยวะส่วนที่หักเล็กน้อย ผูกเฝือกด้วยเชือก เนคไท ผ้าพันคอ ตามแต่จะหาได้ ไม่ควรผูกให้แน่นเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการชา ให้รีบคลายเฝือกออก
     
       หากกระดูกหักที่แขน ข้อศอก หรือมือ การใช้ผ้าคล้องแขนจะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยขยับหรือเคลื่อนไหวมาก หากไม่สามารถทำเฝือกชั่วคราวได้ การใช้ผ้าคล้องก็สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดและการกระทบกระเทือนได้เช่นเดียวกัน
     
       หากกระดูกซี่โครงหัก ก่อนจะใส่เฝือกให้รองด้วยผ้าห่มหรือผ้าขนหนูก่อน
     
       หากกระดูกเชิงกรานหรือกระดูกสะโพก หรือกระดูกโคนขาหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เนื่องจากบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทที่เกี่ยวกับส่วนขา และเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบทางเดินอาหารและการย่อยอาหาร หากเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธี อาจทำให้กระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาทได้ เฝือกจะต้องเป็นวัสดุที่มีความยาวพอเหมาะกับส่วนสูงของผู้ป่วย และใช้ทั้งหมด 3 ชิ้น โดยวางไม้ไว้ด้านนอกลำตัวข้างที่กระดูกหัก เริ่มจากใต้รักแร้ยาวลงไปจนถึงเท้า ไม้อันที่สองวางไว้ที่ขาด้านในตรงบริเวณขาหนีบจนถึงเท้า มัดเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงข้อเท้า ช่วงหัวเข่า และช่วงขาหนีบ ไม้อันที่สามให้วางไว้ที่ลำตัวด้านนอกอีกข้างที่เหลือ ผูกเฝือกที่บริเวณหน้าอกและเอว หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ควรหาเปลสนามหรือวางผู้ป่วยบนผ้าห่มแล้วจึงเคลื่อนย้าย
     
       หากกระดูกขาส่วนล่างหัก ใช้เฝือกสองอันวางไว้ข้างขาด้านในและด้านนอก ให้เฝือกยาวประมาณขาส่วนบนจนถึงปลายเท้า ผูกเป็น 3 ช่วง คือ ขาส่วนบน หัวเข่า และข้อเท้า หากหาอุปกรณ์ทำเฝือกไม่ได้ ให้ผูกไว้กับขาอีกข้างที่ไม่หัก โดยใช้ผ้าห่มหรือผ้าหนาๆ คั่นไว้ตรงกลาง ผ้าจะช่วยพยุงหรือหนุนให้ผูกได้แน่นหนาขึ้น
     
       หากกระดูกหักที่ข้อเท้าหรือเท้า ให้ใช้ผ้าห่มหรือผ้าขนหนูรองไว้ใต้เท้า พันให้รอบเท้าและข้อเท้า แล้วยกเท้าให้สูงไว้เพื่อไม่ให้เท้าบวม