วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก / เอมอร คชเสนีฟังเสียงและภาพประกอบจาก Manager Multimedia
โดย เอมอร คชเสนี
       คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show
     
       กระดูกของคนเราอาจแตกหักได้หากถูกกระแทกอย่างรุนแรง รับน้ำหนักมากเกินไป หรือในกรณีที่บางคนกระดูกเปราะอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกก็จะยิ่งแตกหักง่ายมากยิ่งขึ้น วันนี้มาเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักกันค่ะ

     
       การแตกหักของกระดูกแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
     
       1.กระดูกหักทิ่มออกมานอกเนื้อ
     
       กรณีนี้กระดูกที่แตกหักจะทิ่มออกมานอกผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นฉีกขาด ส่วนหนึ่งของกระดูกโผล่ออกมานอกเนื้อ หรือกระดูกที่แตกอาจจะไม่ทิ่มแทงออกมา แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นเป็นโพรงลึกลงไปจนถึงกระดูกบริเวณที่แตกออกจากกัน ทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระดูกส่วนที่หักและเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย กรณีแบบนี้ควรนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง
     
       2.กระดูกหักในเนื้อ
       กระดูกแตกหรือหัก แต่ไม่ทิ่มออกมานอกผิวหนัง จะมีอาการเจ็บปวด บริเวณที่มีกระดูกแตกหักจะบวม มีรอยเขียวช้ำ กระดูกจะผิดรูปร่าง บริเวณที่หักจะอ่อนปวกเปียกหรือเคลื่อนไหวได้แต่จะเจ็บปวดมาก และเวลาเคลื่อนไหวจะรู้สึกว่ามีการเสียดสีกับกระดูกส่วนอื่น
     
       กระดูกหักลักษณะนี้อาจจะมีอันตรายร้ายแรงได้ หากเส้นเลือดใหญ่บริเวณใกล้เคียงฉีกขาดไปด้วย จะมีเลือดคั่งซึ่งอาจทำให้ช็อคได้ หรือหากเป็นกระดูกซี่โครงอาจจะหักไปทิ่มปอด การเอ็กซเรย์จะทำให้ทราบแน่นอนว่ามีการแตกหักเกิดขึ้นบริเวณใดของกระดูก โดยเฉพาะการแตกหักที่อยู่ภายใน
     
       3.กระดูกหักแต่ไม่แยกออกจากกัน
     
       กรณีนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่กระดูกยังอ่อนอยู่ กระดูกจะเป็นรอยหักแต่ไม่แยกออกจากกัน เห็นเป็นรอยงอของกระดูก เนื่องจากกระดูกมีความยืดหยุ่นสูง
     
       กระดูกเคลื่อน
     
       คือการที่ข้อต่อของกระดูกหลุด ทำให้กระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิม กระดูกที่หลุดมักจะเป็นส่วนที่มีข้อต่อ เช่น แขน ข้อศอก หัวไหล่ นิ้วมือ หากกระดูกเคลื่อน จะมีอาการบวม มีรอยช้ำ รูปร่างกระดูกจะผิดปกติ และมีอาการปวด
     
       ข้อต่อที่หลุดไม่สามารถกลับคืนที่ได้อย่างเดิมหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรพยายามจัดข้อต่อที่หลุดให้กลับเข้าตำแหน่งเดิมด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้เจ็บปวดมากขึ้นแล้ว กระดูกอาจจะเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิมได้ ควรให้แพทย์เป็นผู้รักษา
     
       การปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกหักหรือเคลื่อน
     
       หากกระดูกหักเนื่องจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น รถชน รถคว่ำ ควรเรียกรถพยาบาล เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่ถูกวิธีอาจเกิดอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้ทำตามขั้นตอนดังที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ และหากมีเลือดออกจากบาดแผล ควรห้ามเลือดก่อน ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วเช่นกัน
     
       หากกระดูกแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง ไม่ควรพยายามจัดกระดูกกลับเข้าที่เดิม เพราะจะเพิ่มความเจ็บปวด และทำให้แผลติดเชื้อได้ง่าย
     
       สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กระดูกหักหรือกระดูกเคลื่อน คือป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหว โดยการใส่เฝือกหรือใช้ของที่มีความแข็งแทนก็ได้ เช่น ไม้ นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ที่นำมาม้วน หากพื้นผิวของวัสดุไม่เรียบ ให้ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มรองไว้ชั้นในก่อน
     
       เฝือกควรมีความยาวมากกว่าอวัยวะส่วนที่หักเล็กน้อย ผูกเฝือกด้วยเชือก เนคไท ผ้าพันคอ ตามแต่จะหาได้ ไม่ควรผูกให้แน่นเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการชา ให้รีบคลายเฝือกออก
     
       หากกระดูกหักที่แขน ข้อศอก หรือมือ การใช้ผ้าคล้องแขนจะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยขยับหรือเคลื่อนไหวมาก หากไม่สามารถทำเฝือกชั่วคราวได้ การใช้ผ้าคล้องก็สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดและการกระทบกระเทือนได้เช่นเดียวกัน
     
       หากกระดูกซี่โครงหัก ก่อนจะใส่เฝือกให้รองด้วยผ้าห่มหรือผ้าขนหนูก่อน
     
       หากกระดูกเชิงกรานหรือกระดูกสะโพก หรือกระดูกโคนขาหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เนื่องจากบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทที่เกี่ยวกับส่วนขา และเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบทางเดินอาหารและการย่อยอาหาร หากเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธี อาจทำให้กระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาทได้ เฝือกจะต้องเป็นวัสดุที่มีความยาวพอเหมาะกับส่วนสูงของผู้ป่วย และใช้ทั้งหมด 3 ชิ้น โดยวางไม้ไว้ด้านนอกลำตัวข้างที่กระดูกหัก เริ่มจากใต้รักแร้ยาวลงไปจนถึงเท้า ไม้อันที่สองวางไว้ที่ขาด้านในตรงบริเวณขาหนีบจนถึงเท้า มัดเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงข้อเท้า ช่วงหัวเข่า และช่วงขาหนีบ ไม้อันที่สามให้วางไว้ที่ลำตัวด้านนอกอีกข้างที่เหลือ ผูกเฝือกที่บริเวณหน้าอกและเอว หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ควรหาเปลสนามหรือวางผู้ป่วยบนผ้าห่มแล้วจึงเคลื่อนย้าย
     
       หากกระดูกขาส่วนล่างหัก ใช้เฝือกสองอันวางไว้ข้างขาด้านในและด้านนอก ให้เฝือกยาวประมาณขาส่วนบนจนถึงปลายเท้า ผูกเป็น 3 ช่วง คือ ขาส่วนบน หัวเข่า และข้อเท้า หากหาอุปกรณ์ทำเฝือกไม่ได้ ให้ผูกไว้กับขาอีกข้างที่ไม่หัก โดยใช้ผ้าห่มหรือผ้าหนาๆ คั่นไว้ตรงกลาง ผ้าจะช่วยพยุงหรือหนุนให้ผูกได้แน่นหนาขึ้น
     
       หากกระดูกหักที่ข้อเท้าหรือเท้า ให้ใช้ผ้าห่มหรือผ้าขนหนูรองไว้ใต้เท้า พันให้รอบเท้าและข้อเท้า แล้วยกเท้าให้สูงไว้เพื่อไม่ให้เท้าบวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น