วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ตอนที่ 2



โดย เอมอร คชเสนี
       ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ว่า สามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอะไรขึ้นได้บ้าง วันนี้จะกล่าวถึงอาการบาดเจ็บประเภทต่างๆ และวิธีการปฐมพยาบาลค่ะ
     
       - การเคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น
     
       นอกจากจะเกิดจากการเล่นกีฬาแล้ว ยังอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว หรือการยกของหนัก จะมีอาการปวด บวม และ เขียวช้ำ ให้ประคบเย็น แล้วใช้ยาสำหรับทาบรรเทาอาการฟกช้ำ หรือบรรเทาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรถูนวดแรงๆ ควรถอดเครื่องประดับ เช่น สร้อยข้อมือ กำไล แหวน เพราะบริเวณที่บาดเจ็บจะบวม การใส่เครื่องประดับอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
     
       - การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลัง
     
       บริเวณกล้ามเนื้อหลัง นอกจากกล้ามเนื้อแล้วยังมีเส้นประสาทอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง หากเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลัง อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทได้ การบาดเจ็บอาจเนื่องมาจากการเล่นกีฬาที่หนักเกินไป เช่น วิ่งเป็นเวลานาน หรือเล่นเทนนิส นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวที่ผิดจังหวะ เช่น การเอื้อม การหมุนตัว หรือ การก้ม หากมีอาการปวดหลังควรนอนพักให้มาก หยุดกิจกรรมที่ทำสักระยะ ไม่ควรก้มหรือบิดตัวในระยะนี้ อาจประคบร้อนหลังจากวันแรกที่เกิดการบาดเจ็บ เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้เริ่มออกกำลังกายเบาๆ เพราะการนอนพักต่อไปอาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอได้
     
       - เอ็นส้นเท้าอักเสบ
     
       เส้นเอ็นที่ส้นเท้าจะอยู่ใต้ฝ่าเท้า เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น เวลาเคลื่อนไหวจะเจ็บปวด หรือเกิดความรำคาญ หากยังฝืนใช้งานหนักต่อไป อาจทำให้เกิดการฉีกขาดได้ เมื่อมีอาการเจ็บปวด ให้งดเล่นกีฬาจนกว่าจะหายดี
     
       - เอ็นร้อยหวายขาด
     
       เอ็นร้อยหวายเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อน่องและหัวเข่า อาจเกิดการฉีกขาดเนื่องจากการวิ่ง หรือข้อเท้าแพลง ควรประคบเย็น รัดด้วยผ้ายืด ใส่เฝือก และไปพบแพทย์
     
       - กล้ามเนื้อบริเวณต้นขาหรือขาหนีบฉีกขาด
     
       ส่วนใหญ่มักเกิดกับนักกรีฑา เนื่องจากการเปลี่ยนทิศทางการวิ่งกะทันหัน การออกตัวอย่างรวดเร็ว หรือหยุดวิ่งแล้วกลับมาวิ่งอีกทันที จะมีอาการปวดบริเวณขาหนีบตรงง่ามขา ให้ประคบเย็นใน 24 ชั่วโมงแรก และควรหยุดเล่นกีฬาประมาณ 2 สัปดาห์ พักให้อาการหายดีก่อน แล้วใช้วิธียืดกล้ามเนื้อจะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
     
       - ผิวหนังบวมพอง
     
       เกิดจากการเสียดสี เช่น การจับไม้แบด แร็กเก็ตเทนนิส ไม้กอล์ฟ หรือใส่รองเท้าที่ไม่พอดี จะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสๆ ตรงบริเวณผิวหนังที่ถูกเสียดสี หากปล่อยทิ้งไว้ก็สามารถหายเองได้ ใช้เวลา 2-3 วันตุ่มน้ำจะแตกออก ร่างกายจะสร้างเซลล์ผิวหนังขึ้นมาใหม่ หากต้องการใช้เข็มเจาะเอาน้ำออก ควรใช้เข็มที่สะอาด และอย่าทำให้หนังที่หุ้มอยู่หลุดออก หลังจากนั้นผิวหนังใหม่จะถูกสร้างขึ้นมาแทนเช่นกัน
     
       - โดนกระแทกเบ้าตา
     
       ส่วนใหญ่เกิดจากกีฬาประเภทลูกบอลกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการช้ำใต้ตา เลือดออกในลูกตา ให้ล้างตา ปิดตาทั้งสองข้าง และไปพบแพทย์
     
       - กระดูกหัก
     
       หากเล่นกีฬาอย่างรุนแรงโดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้กระดูกหักได้ วิธีการปฐมพยาบาลได้กล่าวไว้อย่างละเอียดในตอนที่แล้ว
     
       - กระดูกเคลื่อนหรือหลุด
     
       การถูกกระแทก ดึง หรือหมุนแรงๆ อาจทำให้กระดูกเคลื่อนหลุดออกมาจากเบ้า ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และมีอาการเจ็บปวด พยายามให้ผู้บาดเจ็บเคลื่อนไหวน้อยที่สุด แล้วนำส่งแพทย์ ห้ามจับข้อกระดูกให้กลับเข้าที่ด้วยตัวเอง
     
       - ถุงน้ำในข้อเสื่อม
     
       ข้อต่างๆ ภายในร่างกายจะมีถุงน้ำรองรับการกระแทกและช่วยในการเคลื่อนไหว อาการถุงน้ำในข้อเสื่อมจะทำให้เกิดอาการปวดข้อเวลาที่เคลื่อนไหวมากๆ หรือทำซ้ำท่าเดิมบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์ และเลือกออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก
     
       - เป็นตะคริว
     
       กล้ามเนื้อเป็นตะคริวจะไม่มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ จะรู้สึกเจ็บปวดอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วหายไปในเวลาไม่กี่นาที แต่หากมีอาการมากก็อาจปวดอยู่นานเป็นชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อาการจะหายไปได้เองในที่สุด ตะคริวอาจเกิดจากร่างกายขาดแร่ธาตุ เช่น โปแตสเซียม ขาดน้ำ หายใจเร็วกว่าปกติ หรือเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่พอ การปฐมพยาบาลทำได้โดยค่อยๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น