วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทำไงดี! เมื่อลูกไปโรงเรียน

ทำไงดี! เมื่อลูกไปโรงเรียน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
       บทความโดย : อ.พญ.ศศิธร จันทรทิณ กุมารแพทย์ 
       
      
       คุณแม่หลายคนคงรู้สึกกังวลใจไม่น้อย กับลูกน้อยที่กำลังจะถึงวัยเข้าเรียนอีกไม่นาน เรามีวิธีรับมือค่ะ
      
       โดยปกติเด็กพร้อมที่จะจากบ้านไปเป็นตัวของตัวเองเมื่ออายุประมาณ 3-3 ขวบครึ่ง ซึ่งเด็กจะพูดรู้เรื่องช่วยตัวเองได้และอยู่ตามลำพังได้ โดยที่ไม่รู้สึกว่าพ่อแม่หายไปไหน เพราะเดี๋ยวก็ได้พบกัน ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน บางคนก็พร้อมจะไปโรงเรียนตั้งแต่ 2 ขวบ บางคน 3 ขวบครึ่งก็ยังงอแงอยู่ แต่โดยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 3-3 ขวบครึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เจ้าตัวเล็กจะไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นสถานที่แปลกใหม่ ได้พบผู้คนมากหน้าหลายตาโดยเฉพาะเด็กในวัยเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ
      
       แต่ก่อนที่เด็กจะไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมการแต่เนิ่นๆ ควรจะให้เด็กรู้หรือห่างเราบ้าง ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตนเองทีละน้อย เช่น หัดรับประทานข้าวเอง อาบน้ำเอง ทำความสะอาดตนเอง หรือเล่นอยู่ตามลำพัง ปล่อยให้เขามีเวลาอยู่ตามลำพัง และฝึกการนอนให้เป็นเวลา โดยเฉพาะที่โรงเรียนจะมีช่วงเวลาให้เด็กนอน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาระบบในโรงเรียนล่วงหน้า เพื่อมาจัดระบบที่บ้าน และให้เด็กฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง และถ้าจะให้เด็กไปโรงเรียน ควรให้เด็กไปรู้จักหรือคุ้นเคยสถานที่ที่จะไป ให้เด็กรู้จักคุณครู และให้เด็กรู้สึกเคยชิน ทำให้เด็กไม่รู้สึกแปลกกับสถานที่ และพูดถึงโรงเรียนในลักษณะที่ดีอยู่เสมอ
      
       แม้จะได้มีการเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่อย่าพึ่งนอนใจ ในวันแรกที่เด็กไปโรงเรียน หลายคนมักร้องไห้ ไม่อยากจากพ่อแม่ไปไหน บางคนอาจร้องเป็นอาทิตย์ หรือร้องเอาวันที่ 2 บางคนเกิดความกระตือรือร้นในตอนแรก ไม่กี่วันก็ไม่อยากไปเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับตัวตามวัย และตามพัฒนาการของเด็กค่ะ ไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด คิดดูว่าตั้งแต่เขาเกิดมาก็อยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งต้องไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ จะรักเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ เข้าทำนองว่ากลัวไว้ก่อน แต่อีกใจก็อยากมีเพื่อน ซึ่งทั้ง 2 อารมณ์จะต่อสู้กันอยู่ในใจประมาณ 2-3 อาทิตย์ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมพร้อมที่จะรับมือต่อสถานการณ์เหล่านี้ในวันแรกๆ ที่ลูกไปโรงเรียน
      
       1. ลูกร้องไห้ ขอให้คุณแม่ทำตัวปกติ ตั้งสติให้ดี เข้าใจและยอมรับการร้องให้ว่าเกิดขึ้นได้ อาจบอกลูกอย่างมั่นคงว่า หนูมาโรงเรียน แม่ไปทำงาน เสร็จงานแล้วจะมารับแน่นอน” ก่อนที่จะมอบให้คุณครูพาเข้าห้องเรียน ที่สำคัญ อย่าร้องไห้ตาม หรือขู่ลูกหากลูกยังร้องไห้โยเย เช่น “ถ้าไม่หยุดร้อง จะทิ้งไว้ที่โรงเรียนเลย” เพราะนอกจากลูกจะไม่หยุดร้องแล้ว จะยิ่งตกใจและเกลียดกลัวโรงเรียนไปกันใหญ่
      
       2. ของติดตัว เด็กวัยนี้อาจมีของที่เขาติด เช่น ผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา เอาไว้กอดเวลานอน หรือเมื่อไม่สบายใจ ดังนั้นจึงมีเด็กหลายคนยืนยันที่จะเอาไปโรงเรียนเพื่อความอบอุ่นใจ คุณแม่จึงควรอนุโลมให้ลูกเอาติดไป ซึ่งคุณครูก็เข้าใจ และเมื่อลูกปรับตัวได้แล้ว จึงค่อยคุยให้เข้าใจจนไม่ต้องนำติดไปโรงเรียนอีก
      
       3. ทิ้งลูก อยู่กับลูกตามกติกาของโรงเรียนที่อนุญาตให้คุณแม่อยู่กับลูกได้ อย่าทิ้งลูกหรือหนีไปโดยไม่บอกกล่าวร่ำลา โรงเรียนส่วนใหญ่จะขอให้แค่ส่งตอนเช้าก็พอ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการได้สะดวก
      
       4. รับช้า อย่าเด็ดขาด เพราะวันแรกที่ไปโรงเรียน เป็นวันสำคัญและมีความหมายต่อเด็กมาก หากพ่อแม่ให้สัญญาว่าจะมารับเวลาใด ก็ขอให้มาตรงเวลา เพราะเด็กจะเกิดความเชื่อถือ เกิดความมั่นใจ การที่คุณแม่มาสาย จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า เขาถูกทอดทิ้ง และจะมีผลให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนอีก
      
       5. ใจอ่อน เด็กบางคนจะมีลูกเล่น ออดอ้อนพ่อแม่ให้ดูว่าตนน่าสงสาร ร้องไห้บ้าง ไม่สบายบ้าง เพื่อที่ตนจะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน ซึ่งเป็นผลเสียกับเด็กหากพ่อแม่ใจอ่อนให้หยุดบ้าง เรียนบ้าง เพราะจะทำให้ระยะการปรับตัวของเด็กมากขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่นึกเสียว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องดี ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมาจากครอบครัวที่มีคนเอาใจล้อมหน้าล้อมหลัง พอมาที่โรงเรียนไม่เหมือนอยู่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวเป็นระเบียบ ต้องรู้จักแบ่งปันกับเพื่อนๆ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์อ่อนไหว กลัว ไม่อยากกลับไปโรงเรียนอีก
      
       6. เกรี้ยวกราด ลงโทษ สำหรับเด็กบางรายอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ไปโรงเรียนอีกเลย พ่อแม่ควรอดทน ใจเย็น ไม่เกรี้ยวกราดหรือลงโทษ แม้ลูกจะก้าวร้าว อาละวาดบ้าง แต่ขอให้เข้าใจว่า เด็กต้องไปเผชิญกับสิ่งแปลกไม่คุ้นเคย ไม่ว่าสถานที่ เพื่อน คุณครู ควรให้เวลาในการปรับตัวแก่เขาประมาณ 2-3 อาทิตย์
      
       ทั้งหมดนี้ หลังจากไปโรงเรียนแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตพฤติกรรมลูกต่อ ถ้าเห็นว่าผิดปกติ มีนอนละเมอ ฝันร้าย ฉี่รดที่นอนล่ะก็ ให้รีบหาสาเหตุ ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ การพบกับกุมารแพทย์ หรือกุมารแพทย์พัฒนาการ หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อาจช่วยคลายปมในใจของลูกและช่วยให้คุณดูแลลูกได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น 
      
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น