วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นิทานสอนใจ : เจ้าของเรือ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       "พ่อจ๋า พ่อว่าพ่อเป็นเจ้าของเรือ แต่พ่อต้องมาล้างเรือ เช็ดถูเรือ ต้องชะโลมน้ำมันบ่อยๆ ทุกวัน พ่อต้องเก็บรักษาแจวพาย รวมถึงเครื่องใช้ในเรือทุกอย่าง แล้วพ่อก็ต้องแจวเรือพาพวกเราไปนั่งเรือเล่น พร้อมกับเพื่อนบ้านของเราทุกๆ คน พ่อเหนื่อยแทบตาย แต่ทำไมพวกเขากลับได้นั่งอย่างสบายไม่เห็นจะช่วยพ่อแจวเรือเลยสักคน ไม่ช่วยพ่อเช็ดเรือบ้างเล่าพ่อจ๋า? " หนูจ้อยถามพ่อ แล้วทำตาแดงๆ
      
       "ก็พ่อเป็นเจ้าของเรือไงหละจ๊ะลูก" พ่อบอกอย่างใจเย็น
      
       "ใครเป็นเจ้าของอะไรก็ต้องเหนื่อยแทบตามกันทั้งนั้น ใครไม่ได้เป็นเจ้าของสบาย พ่อเห็นว่ามันยุติธรรมแล้วหรือจ๊ะ" หนูจ้อยย้อนถามพ่อ
      
       "ธรรมเนียมมันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วจ๊ะ ใครที่เป็นเจ้าของก็ต้องทนเหนื่อยทนหนักใจ" 
      
       หนูจ้อยถามต่ออีกว่า "แล้วพ่อจะทนเป็นเจ้าของเรือให้เหน็ดเหนื่อยไปทำไมหละ เราก็ขอนั่งกับคนอื่นเป็นครั้งเป็นคราวก็ได้นี่จ๊ะ เหมือนที่พวกเขาเคยนั่งเรือของเราอย่างสนุกสนาน" 
      
       "ก็พ่ออยากเป็นเจ้าของเรือสักลำไงหละ"
      
       "หนูจะไม่ยอมเป็นเจ้าของเรือเหมือนกับพ่อ และจะไม่ยอมเป็นเจ้าของอะไรใดๆ เลย แม้แต่ตัวของหนูเอง! "
      
       "แล้วลูกจะอยู่ได้อย่างไร" พ่อย้อนถามกลับมาที่หนูจ้อยบ้าง
      
       "อยู่อย่างไม่ต้องทนเหนื่อยเหมือนพ่อ และจะต้องแตกต่างจากพ่อทุกประการ"
      
       ดังนั้นหนูจ้อยจึงกลายเป็นเณรจ้อยไป เพราะเขาไม่อยากเป็นเจ้าของสิ่งใด แต่อยากเป็นในสิ่งที่เขาเห็นว่า ตรงข้ามกับพ่อของเขาทุกอย่างทุกประการ
      
       นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าใครเป็นเจ้าของสิ่งใดกลับจะได้กิน "ไข่แดง" ของสิ่งนั้น ส่วนใครที่ไม่เป็นเจ้าของเรือ (เหมือนคนที่คอยแต่จะมานั่งเรือเล่นกับพ่อที่เป็นเจ้าของเรือ) เขาจะได้กินเพียง "ไข่ขาว" ของสิ่งนั้น ซึ่งบางทีถึงกับจะต้องกินเปลือกไข่ หรือมูลโสโครกที่ติดอยู่กับเปลือกไข่เข้าไปด้วยกัน ดังนี้แล้วใครจะอยู่ในสภาพที่น่าสงสารกว่ากัน ในระหว่าง พ่อ-ลูกคู่นี้ และสิ่งที่ได้ตอบแทนมามันมีคุณค่าที่ต่างกันด้วย


  ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์