วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นอนแยกเตียง เพิ่มรักหวาน?


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ขอบคุณภาพจากเดลิเมล
       หากเอ่ยถึงการนอนแยกเตียงกันของคู่รักคู่แต่งงาน หลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่ก็อาจมองว่าชีวิตคู่ของเขาและเธออาจมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ แต่ในหลาย ๆ ครอบครัว การแยกเตียงนอน หรือแยกห้องกันนอน กลับช่วยเพิ่มความสุขในการครองคู่ได้มากกว่าเดิม 
      
       สาเหตุของความสุขในชีวิตคู่ที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถนอนหลับสนิทได้ยาวนานกว่าเดิม ไม่ต้องทนกับเสียงกรน การพลิกตัว หรือการลุกไปเข้าห้องน้ำของคนที่นอนข้าง ๆ ที่อาจทำให้ตนเองนอนไม่หลับไปอีกนาน
      
       ดร.เนล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้้านการนอนหลับคนหนึ่งของอังกฤษ และเป็นอีกคนหนึ่งที่นอนแยกเตียงกับภรรยามานานกว่า 9 ปี กล่าวให้ความเห็นว่า "หากคุณต้องนอนเตียงใหญ่ร่วมกับคู่รัก นั่นหมายถึงคุณจะมีพื้นที่ส่วนตัวน้อยลง และทำให้การนอนหลับไม่ใช่การพักผ่อนอย่างที่ร่างกายควรจะได้รับ"
      
       ไม่เพียงเท่านั้น เขายังระบุว่า คู่รักที่นอนหลับบนเตียงเดียวกันนั้นอาจมีพฤติกรรมระหว่างการนอนที่รบกวนการนอนของอีกฝ่ายได้ เช่น นอนกรน นอนกระสับกระส่าย หรือลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ 
      
       พร้อมกันนั้นเขายังได้ยกตัวอย่างถึงการนอนหลับในอดีตขึ้นมาประกอบด้วยว่า ในอดีตมีเพียงคนยากจนเท่านั้นที่ต้องนอนร่วมกัน เหตุเพราะคนจนไม่สามารถมีบ้านหลังใหญ่พอที่จะแยกห้องกันนอนได้
      
       ขณะที่ภาพการนอนหลับแสนโรแมนติกที่สื่อนำเสนอนั้นมักเป็นการนอนในอ้อมกอดของกันและกัน ดร.สแตนลีย์กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า "เรามักพบเห็นภาพจากหนังฮอลลีวูดถึงการนอนหลับของคู่รักที่แสนโรแมนติก เมื่อทั้งสองนอนหลับไปในอ้อมกอดของกันและกัน แต่ภาพเหล่านั้นอาจใช้ไม่ได้ในชีวิตจริงเสมอไป เพราะหากคุณลองได้นอนแล้ว มันอาจไม่รู้สึกสบายอย่างที่คิดก็เป็นได้"
      
       รายงานข่าวจากเดลิเมลยังได้ยกกรณีของไมค์และจีีน คอลลอม คู่แต่งงานชาวอังกฤษอีกรายหนึ่งที่นอนแยกเตียงติดต่อกันกว่า 8 ปีแล้ว ก่อนนอนพวกเขายังปฏิบัติกับคู่รักเหมือนเดิม คือกล่าวราตรีสวัสดิ์ และจูบลากัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนในห้องของตนเอง ซึ่งเธอยอมรับว่า การนอนแยกห้องกันนั้นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองยืนยาว
      
       ขณะที่ไมค์ผู้เป็นสามีกล่าวว่า "เพราะเราทั้งสองได้นอนหลับสนิทตลอดคืน เราจึงไม่ค่อยมีเรื่องขัดแย้งกันเหมือนคู่แต่งงานอื่น ๆ และทำให้การอยู่ร่วมกันในแต่ละวันเป็นไปด้วยดี"
      
       ส่วนเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศนั้น เขามองว่า การนอนแยกเตียงไม่ใช่ปัญหา เพราะหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความต้องการ ก็สามารถมีกิจกรรมทางเพศได้ ก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนห้องใครห้องคนนั้นเหมือนเดิม
      
       ขณะที่อีกคู่หนึ่งคือ นาตาลี และแกเร็ธ สโนว์ ซึ่งแยกเตียงกันนอนเหตุเพราะฝ่ายหญิงไม่สามารถทนต่อเสียงกรนของฝ่ายชายได้ ยอมรับว่า เพื่อน ๆ ของเขาและเธอมองว่าการแยกเตียงกันนอนเป็นเรื่องประหลาด หลายคนคิดว่าเขาทั้งคู่มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์
      
       "จริง ๆ แล้ว มันกลับตรงกันข้าม เรานอนแยกห้องกันเพราะต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ชีวิตคู่มีปัญหาต่างหาก เพราะไม่เช่นนั้น ฉันต้องปลุกสามีขึ้นมาทุกทีที่ฉันเริ่มทนกับเสียงกรนของเขาไม่ไหว" นาตาลีกล่าว
      
       "ถ้าคุณทั้งคู่สามารถนอนหลับได้สนิทบนเตียงเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการนอน แต่ถ้าคุณพบว่า คุณต้องตื่นบ่อย ๆ กลางดึก เพราะคู่รักที่นอนร่วมเตียงเดียวกับคุณ นั่นก็อาจทำให้คุณต้องมีการคุยกันว่าควรจะเปลี่ยนรูปแบบการนอนเพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสได้พักผ่อนอย่างเต็มที่หรือไม่" ดร.สแตนลีย์กล่าว
      
       อย่างไรก็ดี ปัญหาอีกประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือความไม่เข้าใจกัน เมื่อคู่รักส่วนหนึ่งอาจเข้าใจว่า การนอนแยกเตียงนั้นอาจหมายถึงการที่อีกฝ่ายไม่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการพูดคุยทำความเข้าใจกัน โดยอาจจะชี้แจงว่า ต่างฝ่ายต่างยังรักกัน แต่ต้องแยกกันนอนเพื่อให้มีโอกาสในการพักผ่อนมากขึ้นนั่นเอง
      
       เรียบเรียงจากเดลิเมล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น