วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

6 เทคนิคการปฏิเสธขั้นเทพ! คนฟังไม่จ๋อย คนพูดดูดี


       By Lady Manager
      
       
มีหนุ่มหน้าจืด แผนกข้างๆ มาชวนไปกินข้าว… (ไม่อยากไปเลย)
       เพื่อนจอมเบี้ยว มายืมเงินอีกแล้ว… (ไม่อยากให้เลย)
      
       
…แต่จะปฏิเสธยังไงดี เพื่อไม่ให้หักหาญน้ำใจ?!
      
       
คุณๆ หลายคน คงเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ หรือคล้ายกันนี้มาอย่างแน่นอน โอ้ว! เกิดมาเป็นคนขี้เกรงใจ กลุ้มใจจังเลย ครั้นจะปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย สัมพันธภาพที่ดีก็มีอันขาดสะบั้น แต่ครั้นจะตอบตกลงก็ทำไม่ได้เพราะสุดท้ายแล้ว การเซย์เยส (say yes) ก็อาจทำให้ตัวเองต้องลำบาก หรือยุ่งยากใจ ถึงขนาดมีผลสำรวจออกมาเตือนกันเลยทีเดียว ว่าการฝืนตอบตกลง ในขณะที่ใจตัวเองอยากปฏิเสธนั้น ส่งผลให้เกิดภาวะเครียด ปวดหัว ปวดไหล่ และมีบางรายถึงขั้นนอนไม่หลับด้วย
      
       
น่ากลัวมิใช่น้อย!
      
       ไม่รอช้า มาศึกษากันดีกว่า ว่าหลักในการตอบปฏิเสธแบบมีมารยาทเป็นอย่างไร เทคนิคการตอบปฏิเสธให้เนียน แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น มีอะไรบ้าง เผื่อสาวๆ จะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้ไงล่ะ

       หลักการเบื้องต้น ที่จะทำให้คุณตอบปฏิเสธได้อย่างมีมารยาทนั้น แนะนำให้ท่อง 3 คำนี้ไว้เสมอ “จริงใจ ใจเย็น และสุภาพ” นั่นคือ ก่อนจะตอบปฏิเสธใครสักคนให้คุณทำใจเย็นๆ แล้วตอบปฏิเสธไปอย่างสุภาพ
      
       
ส่วนเรื่องของการตอบปฏิเสธให้ดูจริงใจนั้น หลักการสำคัญก็คือ ต้องตอบปฏิเสธในระยะเวลาอันรวดเร็ว อย่าเพิกเฉยเปลี่ยนเรื่องคุยไปเสียดื้อๆ หรือทำทีเป็นคิดนาน กว่าจะเปิดปากปฏิเสธได้ ก็ปล่อยให้คนถามรอไปนานโข ทำเยี่ยงนั้นไม่น่ารักสุดๆ แถมยังทำให้คู่สนทนามองว่า คุณไม่จริงใจกับเขาเอาเสียเลยดังนั้นหากจะปฏิเสธให้พูดออกไปตรง ๆ อย่ารอช้า อย่าคิดนาน จะดูจริงใจที่สุด
      
       
6 เทคนิคการปฏิเสธขั้นเทพ
      
       
1) ตอบปฏิเสธออกไปตรงๆ โดยพูดเน้นคำว่า “ไม่” สัก 2 ครั้ง เพื่อให้คู่สนทนารู้ว่า คุณไม่ต้องการ หรือทำในสิ่งที่เขาขอร้องไม่ได้จริงๆ ก่อนปิดท้ายด้วยคำว่า “ขอบคุณ” ให้ดูดีมีมารยาท
      
       
ตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ หลายคนต้องพบเจออยู่เป็นประจำ เช่น หากมีใครมาชวนไปทานข้าวกลางวัน แต่คุณไม่อยากไป หรือไปไม่ได้ให้ตอบว่า “ไม่ค่ะ ฉันไปไม่ได้จริงๆ ขอบคุณค่ะที่ชวน”
      
       
2) การสะท้อนถึงคำว่า “ไม่” สำหรับเทคนิคนี้มีหลักการคือ ก่อนคุณจะปฏิเสธนั้น ให้คุณขึ้นต้นด้วยประโยคที่สื่อได้ว่า คุณรู้ในสิ่งที่คนชวนต้องการ แต่คุณก็ไปด้วยไม่ได้จริงๆ (สะท้อนให้เขารู้ ว่าคุณเข้าใจความต้องการหรือเจตนาเขา ก่อนจะตอบปฏิเสธ)
      
       
ตัวอย่าง “ฉันทราบค่ะว่าคุณอยากคุยกับฉัน เกี่ยวกับแผนงานประจำปีในมื้อกลางวันนี้ แต่ฉันไปด้วยไม่ได้จริงๆ ค่ะ”
      
       
3) บอกเหตุผลในการปฏิเสธ สำหรับเทคนิคนี้ ต้องเน้นนะคะว่า ให้บอกเหตุผลในการปฏิเสธเพียงสั้นๆ เท่านั้น เอาแบบ สั้น ง่าย ได้ใจความ อย่าเยิ่นเย้อ หรือชักแม่น้ำทั้ง 5 มาสาธยาย เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ดูน่ารำคาญ และไม่จริงใจ เหมือนพยายามหาข้ออ้างมาปฏิเสธมากกว่า
      
       
ตัวอย่าง “ฉันคงไปทานข้าวเย็นกับคุณไม่ได้ เพราะมีงานที่ต้องทำให้เสร็จภายในค่ำนี้”
       4) ปฏิเสธแบบต่อรอง อันนี้เป็นมุมมองการปฏิเสธแบบนักธุรกิจสักหน่อย หลักการอยู่ที่ว่า หากคุณทำในสิ่งที่เขาขอร้อง หรือชักชวนในครั้งนี้ไม่ได้ ก็ให้ยื่นข้อเสนอไปว่า เอาไว้คราวหน้าได้ไหม?
      
       
ตัวอย่าง “ฉันไปทานข้าวกับคุณวันนี้ไม่ได้จริงๆ เอาไว้เป็นโอกาสหน้าก็ได้ไหมคะ”
       

       5) การปฏิเสธแล้วถามกลับ เทคนิคข้อนี้มีหลักการคือ เมื่อพูดปฏิเสธไปแล้ว ให้ยิงคำถามกลับไปทันที
      
       
ตัวอย่าง (ขอยกตัวอย่างประโยคการปฏิเสธที่แอบหยอดคนชวนไว้เล็กๆ) “เราคงไปทานข้าวมือกลางวันในวันนี้ไม่ได้จริงๆ แต่มันจะมีโอกาสหน้าอีกไหมคะ ที่เราจะได้ไปทานด้วยกัน”
      
       
6) ทวนคำปฎิเสธ เทคนิคสุดท้ายนี้ ถือว่าได้รับความนิยมที่สุด เพราะเป็นเทคนิคการพูดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เราใส่ใจเขา และในความจริงแล้ว เราเองก็ไม่ปฏิเสธเขาแต่มันจำเป็นต้องปฏิเสธจริงๆ นั่นคือ เทคนิคการทวนคำปฏิเสธหลายๆ รอบ ด้วยประโยคต่อๆ กัน
      
       
ตัวอย่าง “เราคงไปทานข้าวกับเธอไม่ได้จริงๆ อยากไปด้วยนะแต่ไปไม่ได้ จริงๆ นะ ถ้าไปได้วันนี้คิดว่าจะเลี้ยงเธอเลย แต่มันไปไม่ได้จริงๆ” (แอบขำทำเป็นเนียนว่าจะเลี้ยงเขาซะด้วย)
      
       
หวังว่าเทคนิคการปฏิเสธแบบเนียนๆ ทั้ง 6 แบบนี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณสาวๆ ขี้เกรงใจทั้งหลายบ้างนะคะ เพราะในบางสิ่งที่เราไม่ยินดีจะทำ ก็ต้องลดความเหนียมกล้าปฏิเสธเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นก็ต้องมาลำบากใจทีหลังจนเครียดกันอีกจริงไหมคะ
       


ที่มา :ASTVผู้จัดการออนไลน์