วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

การปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ตอนที่ 1
โดย เอมอร คชเสนี
       โดย เอมอร คชเสนี
      
       การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬานั้น มีประโยชน์ แต่หากทำโดยไม่ถูกวิธีก็อาจจะเกิดโทษได้ เช่น เกิดการบาดเจ็บขึ้น วันนี้จะกล่าวถึงการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ตลอดจนหลักในการปฐมพยาบาลค่ะ
       ก่อนจะออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา ควรวอร์มร่างกายก่อนทุกครั้งอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ อาจเริ่มจากเดินช้าๆ แล้วเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะวิ่งเหยาะๆ สะบัดแขนขา หมุนหัวไหล่ หัวเข่า คอ เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น เหยียดแขนออกช้าๆ จนรู้สึกตึง ค้างไว้ประมาณ 15 วินาที สลับทำอีกข้าง แล้วทำที่ขาเช่นเดียวกัน
       กีฬาแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป หากจะเลือกเล่นกีฬาชนิดใดก็ควรศึกษาให้ดีก่อน เช่น หากชอบเล่นแบดมินตัน ควรเริ่มตั้งแต่เลือกไม้ให้เหมาะสม น้ำหนักกำลังพอดี เพื่อไม่ให้เกิดความเมื่อยล้าหรือการบาดเจ็บ หากชอบเดินหรือวิ่ง ก็ควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมและสถานที่ที่เหมาะกับการออกกำลังกาย
      
       นอกจากนี้ ร่างกายของแต่ละคนมีความทนทานไม่เท่ากัน หากหักโหมเล่นกีฬาติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นลมหรือบาดเจ็บได้ การเล่นกีฬาที่ได้ประโยชน์ จึงควรเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ไม่หนักเกินไป ไม่นานเกินไป แต่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพที่สุด
      
       การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
      
       - อาการบาดเจ็บเฉียบพลัน คือ การบาดเจ็บเกิดขึ้นทันที เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก 
       - อาการบาดเจ็บเรื้อรัง คืออาการบาดเจ็บที่เกิดซ้ำๆ ที่เดิมและสะสมมานาน เช่น การวิ่ง ทำให้หัวเข่าต้องรับน้ำหนัก และแรงกระแทก จะทำให้เกิดการสึกกร่อนจนเกิดอาการข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้ กีฬาบางชนิดหากเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไม่เหมาะสมเป็นประจำ ก็อาจทำให้บาดเจ็บเรื้อรังได้ เช่น การเล่นเทนนิส การตีกอล์ฟ
      
       อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ได้แก่
       - วิ่งหรือเดิน อาจทำให้ข้อเท้าแพลง เอ็นข้อเท้าหรือเอ็นหัวเข่าฉีกขาด กล้ามเนื้ออักเสบ หรือเป็นโรคเข่า 
       - แบดมินตัน อาจทำให้กล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก เอ็นข้อเท้าฉีกขาด เจ็บหัวเข่า หรือปวดข้อศอก 
       - เทนนิส อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นฉีก กระดูกข้อมือหัก ข้อศอกหลุด ปวดสะโพก หรือเป็นโรคเข่า 
       - ว่ายน้ำ อาจทำให้ไหล่หลุด หรือเป็นหูน้ำหนวก
       - ฟุตบอล อาจทำให้ไหล่หลุด กระดูกหักหรือหลุด หรือเกิดบาดแผลจากการปะทะกันของผู้เล่นหรือลูกบอล 
       - กอล์ฟ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนิ้วมือบวมพองจากการเสียดสีกับไม้กอล์ฟ เกิดข้ออักเสบ ไหล่หลุด หรือปวดหลัง
       - บาสเกตบอล อาจทำให้ข้อเท้าเคล็ด เอ็นข้อเท้าฉีก นิ้วหลุดหรือหัก ไหล่หลุด แขนหัก หรือเกิดบาดแผลจากการปะทะกัน 
       - เบสบอล อาจทำให้กล้ามเนื้อขัดยอก ข้อเคล็ด ข้อมือหักหรือหลุด หรือเกิดบาดแผลจากการกระแทกของลูกบอลหรือไม้ตี ฟันหัก หรือไขสันหลังถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
       - ยิมนาสติก อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นฉีกขาด กระดูกสันหลังบาดเจ็บ แขนหัก ขาหัก
       - พายเรือ อาจทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดไหล่
       - สเก็ต อาจทำให้มีอาการปวดที่กระดูกก้นกบเนื่องจากการล้มกระแทก 
       - ฮอกกี้ อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หรือเกิดบาดแผลจากการปะทะกัน
      
       หลักเบื้องต้นในการปฐมพยาบาล มีดังนี้
       

       - หากเกิดการบาดเจ็บขึ้น ควรหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่นั้น ไม่ควรฝืนเล่นต่อไป เพราะจะยิ่งทำให้บาดเจ็บมากขึ้น ควรหยุดพักให้ร่างกายหายดีก่อน จึงกลับไปเล่นอีกครั้ง
       - การประคบเย็นใน 1-2 วันแรกหลังเกิดการบาดเจ็บจะช่วยลดอาการปวดบวมลงได้ โดยใช้ cold pack หรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบตรงบริเวณที่บาดเจ็บประมาณ 15 นาที เว้นไปประมาณ 10 นาที แล้วจึงประคบอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดการบาดเจ็บ
       - การรัดด้วยผ้ายืดบริเวณที่บาดเจ็บจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมมากขึ้น แต่ต้องระวังไม่รัดให้แน่นจนเกินไปจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากมีอาการชา ควรคลายผ้ารัดออก แล้วจึงค่อยพันใหม่
       - หากบาดเจ็บบริเวณแขน หรือขา ให้ยกแขนขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อเป็นการห้ามเลือดหรือป้องกันไม่ให้ของเหลวในร่างกายไหลไปยังบริเวณที่บาดเจ็บ
       หลักการดังกล่าวใช้ในกรณีที่มีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย หากเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง หลังจากปฐมพยาบาลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น