วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ฤดูฝนพรำ! เตือนระวังโรคเดิมๆ แผลงฤทธิ์ใส่ลูก


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       ความสุขที่สุดของคนเป็นแม่ คือการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดี แข็งแรง แต่ถ้าวันหนึ่งลูกเกิดไม่สบาย หรือเจ็บป่วยขึ้นมา คงไม่ต้องบอกเลยว่า หัวอกคนเป็นแม่จะเป็นเช่นไร ยิ่งเฉพาะในช่วงนี้ที่ฝนฟ้าคะนองกระจายไปทั่ว จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่กลุ่มเชื้อโรคเดิมๆ ต่างออกมาส่งต่อโรคกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้เด็กเล็ก ๆ ในบ้านมีโอกาสถูกรุมรังแกได้ง่าย
      
       ฉะนั้น ด้วยความเป็นห่วง รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กเล็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงกล่าวเตือนผ่านทีมงาน Life and Family ว่า ถึงแม้จะเป็นโรคเดิมๆ ในหน้าฝนที่เกิดกับลูก แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะเป็นฤดูที่เชื้อไวรัสเจริญเติบโต และแพร่กระจายได้ดีกว่าช่วงอื่น ๆ
      
       สำหรับโรคเดิมๆ โรคแรก พ่อแม่ต้องระวังโรคไข้เลือดออกให้ดี เพราะสถานการณ์โดยรวมขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วง โดยสถิติการระบาดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สูงถึงร้อยละ 83 โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดสูง
      
       ดังนั้นบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย เนื่องจากเป็นที่ที่เอื้อต่อการวางไข่ของยุงลาย เมื่อเป็นเช่นนี้วิธีง่ายๆ ในการพิชิตยุงลาย คือ ควรปิดฝาภาชนะเก็บน้ำทุกชนิดให้มิดชิดอยู่เสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกัน ขวด หรือภาชนะ สำหรับบ้านที่มีจานรองขาตู้กับข้าว ถ้าไม่สะดวกเปลี่ยนน้ำ สามารถเติมเกลือแกง 2 ช้อนชา หรือใส่น้ำส้มสายชู 2 ช้อนชา เพราะถ้าน้ำเปรี้ยวยุงลายจะไม่ชอบวางไข่
      
       หรืออาจใช้วิธีกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยการปล่อยปลากินลูกน้ำอย่างปลาหางนกยูง หรือปลาสอด โดยใส่เฉพาะตัวผู้อย่างเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขยายพันธุ์ หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำที่มีขายอยู่ทั่วไปในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร นอกจากนี้พืชผักสมุนไพรบางชนิดสามารถป้องกันยุงได้ เช่น มะกรูด โดยการใช้ลูกมะกรูดมาคลึงจนมีน้ำมันออกมาแล้วโยนลงในบ่อเก็บน้ำ น้ำมันของมะกรูดจะมีกลิ่นฉุนทำให้ยุงไม่มาวางไข่
      
       นอกจากโรคไข้เลือดออกที่มากับยุงลายแล้ว ไวรัสที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ย่อมเกิดได้ดีในช่วงนี้เช่นกัน ส่งผลให้เด็กเป็นไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่กันได้ง่าย ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ เป็นโรคที่ไม่เคยตายไปจากชีวิตมนุษย์เลย โดยเฉพาะโรคหลัง ถ้าเป็นในเด็กต่ำกว่า 2 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้สูง เช่น เกิดอาการปอดบวมได้ 
      
       อย่างไรก็ดี หากลูกเป็นไข้ และมีเสมหะ ทีมงานได้เคยนำเสนอวิธีการจัดท่าระบายเสมหะให้ลูกไว้เมื่อหลายเดือนก่อน สามารถคลิกอ่านย้อนหลังได้จากข่าวนี้ รู้ทัน "ปอดบวมในเด็ก" แนะวิธีจัดท่าระบายเสมหะให้ลูก ซึ่งจะบอกวิธีการจัดท่าที่จะช่วยระบายเสมหะให้ลูกน้อยพร้อมภาพประกอ โดยมีอยู่ด้วยกัน 7 ท่าที่คุณแม่ทำให้ลูกได้ไม่ยาก 
      
       นอกจากนี้ คุณหมอบอกต่อว่า เชื้อไวรัสโรต้า เป็นเรื่องที่พ่อแม่จะละเลยไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงในเด็กเล็ก ซึ่งมีวิธีป้องกันง่ายๆ คือ ให้ลูกล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร และหลังการเล่นของเล่น ถึงแม้จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่หลายๆ บ้านมักลืม หรือไม่ได้สนใจ
      
       "ในช่วงนี้ขอให้มีความสุขในการดูแลลูก ไม่อยากให้เครียดจนเกินไป แต่การมีความรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้ารู้แบบครึ่งๆ กลางๆ จะทำให้พ่อแม่เกิดความตึงเครียด ส่งผลให้ทำหน้าที่พ่อแม่ได้ไม่ดี ดังนั้นอยากให้มีข้อมูลที่รู้จริง ไม่รู้เลยยังดีกว่ารู้ครึ่งๆ กลางๆ เพราะถ้ารู้จริง เราจะสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ถ้าเรื่องไหนที่ไม่รู้ หรือไม่มั่นใจ ขอให้เดินทางมาปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาล คุณหมอจะให้คำปรึกษาที่ถูกต้องกับคุณ" คุณหมอเด็กกล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น