วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ชวนกัน "ตักบาตรหนังสือ" อิ่มบุญทั้งแม่และลูก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
"พระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ)"
       "การบุญ" เป็นการทำความดีหรือให้ทานแก่ผู้อื่น และสามารถทำได้หลากหลายวิธี อยู่ที่ว่าใครจะสะดวกแบบไหนมากกว่า ซึ่งสมัยนี้การทำบุญทำได้ตั้งแต่การเดินทางไปที่วัด การทำบุญด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ รวมถึงการทำบุญด้วยการแบ่งปันสิ่งของให้กับผู้อื่นที่ขาดแคลน โดยเฉพาะการทำบุญด้วยหนังสือ หรือ "การตักบาตรหนังสือ" ที่เป็นการให้ทานแห่งปัญญาที่ส่งให้ได้อานิสงส์และผลบุญที่ยิ่งใหญ่ และถือว่าเป็นการทำความดีแบบง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเด็กหรือว่าผู้ใหญ่หรือสามารถใช้เป็นกิจกรรมของครอบครัวได้
      
       "พระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ)" ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับการทำบุญตักบาตรด้วยหนังสือว่า เป็นการตักบาตรที่ถวายอาหารสมอง อาหารทางปัญญาแด่พระสงฆ์ เพราะพุทธศาสนิกชนเคยถวายแต่ของที่เป็นอาหารทางร่างกายที่ช่วยให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ตามธรรมชาติของมนุษย์โลก หากร่างกายของเราอิ่มแล้ว แต่ใจของเรายังหิวอยู่ เราก็ไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ การที่ร่างกายอิ่ม ดังนั้นใจของเราก็ต้องอิ่มตามไปด้วย ประเพณีการตักบาตรหนังสือจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้อิ่มทั้งกายและอิ่มทั้งใจ การทำบุญด้วยหนังสือ ผู้กระทำจะได้อานิสงส์แห่งปัญญาที่ได้ช่วยชุบชีวิตของมนุษย์ให้อยู่ในสิ่งที่ดี เพราะเราได้ให้วิทยาทานกับผู้อื่นที่ด้อยโอกาส เปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดี และเป็นส่วนหนึ่งในการได้ให้ทรัพย์ที่มีคุณค่าให้แก่แผ่นดิน
      
       "การที่เราถวายข้าวปลาอาหารในการตักบาตรทั่วไปนั้น ก็จะช่วยให้พระสงฆ์ได้อิ่มท้อง แต่อาหารของสมองหรือจิตใจมันไม่ใช่กับข้าว หากแต่เป็นหนังสือที่จะให้ความรู้ วิชาการ ปรัชญา เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่ล้วนแต่ให้ความรู้จนเกิดปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกว่าอาหารทางร่างกาย เพราะการตักบาตรกับข้าวกับปลาร่างกายก็จะได้รับ แต่การตักบาตรหนังสือใจก็จะได้รับ ซึ่งนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ดี เมื่อเรามีจิตใจดี สิ่งต่างๆ ที่มันออกมาจากตัวของเรามันก็จะดีตามไปด้วย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้คนเราอิ่มทั้งกายอิ่มทั้งใจ"
สินใจ เปล่งพาณิชย์กับลูกชาย
       สำหรับการตักบาตรหนังสือ พระศรีญาณโสภณ กล่าวแนะนำว่า เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรสอนให้กับลูกๆ อย่างยิ่งเพราะนับวันเด็กและเยาวชน เริ่มเดินออกห่างจากศาสนามากขึ้นทุกที และควรสอนให้เด็กรู้จักการการทำบุญตักบาตร เพื่อให้รู้ว่าการทำบุญตักบาตรสามารถทำได้หลากหลาย ไม่เฉพาะการทำบุญถวายภัตตาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถถวายเป็นสิ่งของอย่างอื่นที่มีประโยชน์ได้ด้วย ทั้งนี้การทำบุญตักบาตรจะสอนให้พวกเขารู้จักการกระทำความดี และที่สำคัญเด็กๆ จะได้เรียนรู้การให้ที่เป็นปัญญาบารมี รู้จักการสร้างบารมี และเรียนรู้การให้ที่ยืนยาว เพราะการทำบุญด้วยหนังสือเป็นการให้ปัญญาที่สามารถติดตัวผู้รับไปได้ตลอดชีวิต
      
       สอดคล้องกับ คุณแม่สินใจ เปล่งพาณิชย์ ที่เธอบอกว่า พาลูกๆ เข้าวัดตั้งแต่ลูกยังเล็ก ส่วนการตักบาตรหนังสือไม่เคยได้ทำกัน แต่คิดว่าเป็นส่งที่ดีมาก ซึ่งปกติแล้วเธอชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ ด้วยหน้าที่การงานทำให้ต้องอ่านหนังสือจำนวนมากหลากหลายประเภท พูดได้ว่าอ่านทุกแนว และทุกครั้งที่ได้อ่านหนังสือที่ทำให้รู้สึกดีเกิดความประทับใจ ก็อยากจะส่งต่อความสุขนี้ให้กับคนอื่นๆ ได้อ่านบ้าง เพราะเชื่อว่าต้องมีสักคนที่เขาอ่านแล้วจะอมยิ้มเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มที่เธอเคยประทับใจ
      
       "บางครั้งที่อ่านหนังสือและรู้สึกมีความสุข มีความรู้สึกที่ดีเกิดขึ้นก็อยากจะส่งต่อความสุขนี้ให้กับคนรอบๆ ข้างได้ลองอ่าน ยิ่งเป็นคนที่เขาขาดแคลนหนังสือ เมื่อเขาได้รับการหยิบยื่นโอกาสที่ดีนี้ให้ เชื่อว่าไม่ใช่แค่ความประทับใจที่อยู่ในหนังสือที่เราส่งต่อให้กับเขา แต่มันจะมีความรู้สึกดีจากการให้ด้วย และอยากให้ทุกๆ คนมาร่วมกันตักบาตรหนังสือกัน เพราะเป็นการทำบุญที่ได้ให้ปัญญากับคนอื่น หรือถ้าใครไม่มีโอกาสมาร่วมตักบาตร ก็สามารถทำได้โดยการบริจาคหนังสือให้กับคนที่เขาขาดแคลนและยังรอคอยโอกาสนั้นอยู่"
"วรพันธ์ โลกิตสถาพร"
       เช่นเดียวกับ "วรพันธ์ โลกิตสถาพร" กรรมการผู้จัดการบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด ผู้ที่คว่ำหวอดในวงการหนังสือและเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีการตักบาตรหนังสือ บอกว่า ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยลง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ฉะนั้นในฐานะคนทำหนังสือก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอให้เข้ากับความต้องการของผู้อ่าน และดีใจที่เด็กๆ บางกลุ่มหันมาอ่านหนังสือธรรมมะ หวังว่าคนไทยจะให้ความสนใจอ่านหนังสือธรรมะและหันหน้าพาลูกหลานเข้าวัดกันมากขึ้น
      
       นอกจากนั้น ยังมีเด็กรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญในการทำบุญตักบาตรหนังสือ อย่าง "น้องนาถ-ยุวนาถ อาระยานิมิตสกุล" ที่มาพร้อมกับคุณแม่จินดาวรรณ ซึ่งเธอเล่าว่า เคยตักบาตรหนังสือมาแล้ว ทำให้รู้สึกว่าการตักบาตรหนังสือเป็นประเพณีที่ดี และควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้ เพราะแทนที่เราจะตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แต่เป็นการตักบาตรความรู้ให้พระสงฆ์ได้รับหนังสือ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรม และนำความรู้ที่ได้กลับมาสั่งสอนและเทศนาให้กับพุทธศาสนิกชนฟัง เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
      
       "อยากให้ทุกคนมาร่วมทำบุญกัน เพราะมันช่วยให้เรามีสติและมีสมาธิมากขึ้น ปกติที่บ้านนาถกับคุณแม่ก็จะทำกิจกรรมด้วยกันโดยการเข้าวัดทำบุญเป็นประจำ ซึ่งมันสามารถช่วยหล่อหลอมจิตใจให้เรามีความอ่อนโยน และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของคนหมู่มากได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยจากอันตราย" น้องนาถทิ้งท้าย
      
       สำหรับบ้านไหนที่สนใจไปร่วมสัมผัสการทำบุญ "ตักบาตรหนังสือ" ก็สามารถไปได้ที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาตินี้ ลูกๆ คนไหนยังไม่มีโปรแกรมพาคุณแม่ไปเที่ยวพักผ่อนก็สามารถชวนท่านเข้าวัดตักบาตรหนังสือกันได้ค่ะ นอกจากนั้น หนังสือที่ได้จากการตักบาตรในครั้งนี้จะส่งต่อไปให้พระภิกษุและสามเณรในต่างจังหวัดที่ขาดแคลนอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น