วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

“โลกร้อน” ทำสัตว์วิวัฒนาการเร็วขึ้นกว่าเดิม

  
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ปลาสคิคเคิลแบ็ค ปลาทะเลที่เป็นหนูทดลองสำหรับงานวิจัยนี้ (redorbit.com)

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงอุณหภูมิบริเวณแถบอาร์ติกของโลกในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างปี 1981 -2008 อุณหภูมิแถบดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงและมีน้ำแข็งลดลงอย่างน่าใจหาย (เอเอฟพี)

โรวาน บาร์เรตต์ (มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย)

ผู้เชี่ยวชาญชี้ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ส่งผลกระทบให้สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีวิวัฒนาการเร็วที่สุดเท่าที่เคยมี ยกตัวอย่างปลาทะเลที่ใช้ศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนพันธุกรรมแค่เพียง 3 ชั่วรุ่น แต่ส่งผลร้ายตามมานั่นคืออัตราการตายสูง 
      
       “การศึกษาของเราเป็นตัวอย่างแรกที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่มีพันธุกรรมมั่นคงนั้น สามารถปรับเปลี่ยนพันธุกรรมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้อย่างรวดเร็ว” โรวาน บาร์เรตต์ (Rowan Barrett) นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) แคนาดา กล่าว
      
       อย่างไรก็ดี เอเอฟพีรายงานคำเตือนของบาร์เรตต์ด้วยว่า วิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดนั้นทำให้มีอัตราการตายสูงตามมาด้วย โดยในงานวิจัยของเขาซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ทั้งจากแคนาดาและยุโรปนั้นได้นำปลาสติคเกิลแบ็ค (stickleback fish) จากทะเลมาเลี้ยงในสระที่ค่อยๆ ลดอุณหภูมิลงทีละน้อย แล้วใช้เวลาศึกษาปลาชนิดนี้เป็นเวลา 3 ปี
      
       ผ่านไป 3 ชัวรุ่นซึ่งแต่ละรุ่นใช้เวลา 1 ปีนั้น ปลาสติคเกิลแบ็คเกิดวิวัฒนาการเพื่ออาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 2.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิต่ำกว่าระดับที่ปลารุ่นทวดของสปีชีส์นี้จะมีชีวิตอยู่ได้ โดยการศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยๆ สิ่งมีชีวิตบางชนิดสามารถที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็วมากพอที่จะอยู่รอดในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      
       งานวิจัยนี้ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในรูปแบบออนไลน์ในรูปแบบตีพิมพ์ของวารสารเดอะโพรซีดิงส์ออฟเดอะรอยัลโซไซตี บี (the Proceedings of the Royal Society B) ฉบับวันที่ 7 ก.ย.นี้
      
       แท้จริงแล้ว งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งหมดทำนายว่า อุณหภูมิโลกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลายองศาเซลเซียสในช่วงหลายทศวรรษที่ใกล้เข้ามา และเกิดการแกว่งอย่างรุนแรงระหว่างอุณหภูมิที่หนาวสุดขั้วและร้อนสุดขีด
      
       “แต่เพียงเพราะเราได้เห็นการตอบสนองทางวิวัฒนาการระดับใหญ่ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชากรในธรรมชาติสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่มีผลสืบเนื่องตามมา ทั้งนี้ปลาที่ศึกษาประมาณ 95% ตายระหว่างช่วง 3 ปีที่เราทำการศึกษา มีเพียง 5% เท่านั้นที่พัฒนาความทนทานต่อความหนาวเย็นได้” บาร์เรตต์กล่าว
      
       นักพันธุศาสตร์จากแคนาดากล่าวว่า การสูญเสียประชากรถึง 95% นั้นเป็นหายนะ เพราะจำนวนที่เหลืออยู่เพียง 5% นั้น อาจจะไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่จำนวนประชากรได้ และกล่าวอีกว่า เราไม่ทราบพื้นฐานทางพันธุกรรมของคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว
      
       บาร์เรตต์ซึ่งกำลังจะย้ายไปมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เสริมอีกว่ายังต้องมีการศึกษาที่มากกว่านี้ว่าวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วนี้ สามารถเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นอีกหรือไม่ และการวิวัฒนาการในภาวะโลกร้อนที่เป็นอันตรายยิ่งกว่าภาวะที่โลกหนาวเหน็บ ซึ่งการศึกษาลักษณะดังกล่าวอาจให้ร่องรอยที่มนุษย์จะใช้รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
      
       การศึกษาวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของปลาทะเลชนิดนี้ เป็นเหมือนกระจกสะท้อนวิวัฒนาการอันยาวนาน 10,000 ปีของปลาสติคเคิลแบ็คในเมืองบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ซึ่งเป็นลูกหลานของปลาทะเลที่ติดอยู่ในแผ่นดินในช่วงปลายของยุคน้ำแข็ง (Ice Age) และมีวิวัฒนาการที่จะอยู่รอดในอุณภูมิที่หนาวเย็นสุดขั้ว
      
       บาร์เรตต์ยังชี้อีกว่า มนุษย์มีวัฒนาการเมื่อผ่านไป 10,000 ชั่วรุ่น นับแต่การอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรกในแอฟริกา ทำให้เกิดคำถามว่ามนุษย์ต้องใช้เวลากี่ชั่วรุ่นเพื่อปรับตัวกลายเป็นคนทางซีกโลกเหนือที่มีวิวัฒนาการของยีน ซึ่งช่วยให้มนุษย์ในรุ่นถัดๆ มารับมือกับอากาศที่หนาวเย็นได้มากกว่าบรรพบุรุษแอฟริกัน
      
       “คุณสามารถเริ่มวาดเส้นขนานในอัตราการวิวัฒนาการได้ แต่อย่างที่แสดงให้เห็นอัตราการตาย 95% ในปลาสติคเคิล วิวัฒนาการที่เร็วขนาดนั้น ทำให้ประชากรตกอยู่ในความเสี่ยงสูง มันมักจะมีผลที่ตามมาเสมอ” บาร์เรตต์กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น